| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : รัสเซีย : สงครามต่างๆ
สมรภูมิบ้านร่มเกล้า (สงครามที่ถูกลืม) | สมรภูมิบ้านร่มเกล้า ศึกประวัติศาสตร์ ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณ ยุทธภูมิบ้านร่มเกล้า ในช่วง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 จากการสู้รบอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งฝ่ายไทยและลาว และนับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา จากคำบอกเล่าของทหารที่อยู่แนวหน้า ซึ่งทำการรบ ณ ยุทธภูมิบ้านร่มเกล้า ทำให้ทราบว่า ศึกครั้งนี้เราต้องรบกับข้าศึกที่มียุทธภูมิดีกว่า มีอำนาจการยิงสนับสนุนต่อเนื่องและรุนแรง ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะแนวกับระเบิด ทหารหลายนายซึ่งผ่านสมรภูมิมาอย่างโชกโชน กล่าวว่า เป็นการรบที่หนักที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมาในชีวิตการเป็นทหาร โดยเฉพาะบริเวณเนิน 1182 , 1370 , และ 1428 ซึ่งถือว่าเป็นเนินแห่งสมรภูมิเลือดอย่างแท้จริง
ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดทหารไทยทั้ง ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ และทหารพราน ได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนินซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ถึงแม้จะใช้กำลังทางอากาศบินโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักก็ตาม จนทำให้ ทอ. ไทย ต้องสูญเสียเครื่องบิน เอฟ 5 อี และ โอวี 10 ไปอย่างละ 1 เครื่อง อันเป็นผลมาจากการยิงของฝ่ายลาว ทางภาคพื้นดิน ด้วย ปตอ. และจรวดแซม
หลังจากที่ทหารลาวสูญเสียที่มั่นต่างๆ ได้รวบรวมกำลังพลเข้ารักษาเนิน 1428 ไว้อย่างเหนียวแน่นโดยมีกำลังรบและกำลังสนับสนุนดังนี้คือ กองพลที่ 1 จำนวน 4 กองพัน พร้อมอาวุธหนักปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืน 105 มม. 3 กระบอก รถถังอีก 4 คัน รวมกำลังพล 372 คน
กองพลที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่หลวงพระบาง จำนวน 4 กองพัน เช่นกัน มีกำลังพลกว่า 418 คน สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 105 มม. 3 กระบอก รถถัง 5 คัน ปืน ค. ขนาด 62 และ 82 มม. รวมทั้ง ปตอ. ด้วย นอกจากนี้กองกำลังหลักซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ไชยบุรี มีปืนใหญ่ 130 มม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 122 มม. อีก 3 กระบอกรวมทั้งหน่วยจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ แซม 7 ซึ่งเป็นปืนที่ทหารอากาศมีความเชี่ยวชาญมาก
ในระยะแรกของการรบนั้น ทหารไทยใช้ทหารม้าและทหารพรานรุกคืบหน้าเข้าสู่บริเวณเนิน 1428 ซึ่งพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายลาวอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะกับระเบิดและการยิงปืนใหญ่จากลาวอย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง ทำให้การรุกคืบหน้าเป็นไปได้ช้าและสูญเสียอย่างมาก สาเหตุสำคัญที่เราไม่สามารถเผด็จศึกได้อย่างที่คาดหมาย เนื่องจากทหารลาวมีชัยภูมิที่ได้เปรียบ ที่มั่นบนเนิน 1428 มีความแข็งแรง สามารถส่งกำลังบำรุงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การยิงอาวุธหนักของฝ่ายลาวมีความแม่นยำและได้ผลมาก การพิชิตเนิน 1428 ให้ได้นั้น ทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือต้องโอบอ้อมบุกตะลุยขึ้นจากตีนเนินด้านเขตประเทศลาว และสยบฐานปืนใหญ่ที่อยู่ในฝั่งลาวให้เงียบเสียงเสียก่อน ซึ่งในขั้นแรกทหารไทยมีความคิดที่จะผลักดันทหารลาวออกจากดินแดนไทยเท่านั้น การรบจึงจำกัดเขตอยู่แต่ในประเทศไทย แต่หลังจากการรบในช่วงแรกฝ่ายเราไม่ประสบผลสำเร็จดังที่คาดหมายไว้ คณะนายทหารจึงได้ปรับยุทธการรบเสียใหม่ โดยใช้กำลังปืนใหญ่ระยะยิงไกลแบบ เอ็ม 198 และปืนใหญ่แบบต่างๆ ระดมยิงเข้าไปในดินแดนลาว ที่หมายคือการยิงฐานปืนใหญ่และที่ตั้งกำลังทหาร พร้อมทั้งส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปตัดการส่งกำลังสนับสนุนของฝ่ายลาว จนกระทั่งการสนับสนุนการรบของลาวได้ลดประสิทธิภาพลงไปอย่างมาก ซึ่งคาดว่า หลังจากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 เนิน 1428 จะต้องกลับคืนมาเป็นของไทยอย่างแน่นอน แต่แล้ววันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีการเจรจายุติศึกแยกกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกันฝ่ายละ 3 กม. อันเป็นการสิ้นสุดการรบที่ไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่า ใครคือผู้ชนะ
ข้อสังเกตจากการรบ
การรบครั้งนี้ผิดกับการรบเท่าที่ทหารไทยได้เคยผ่านมา ทำให้ต้องระดมกำลังทหารหน่วยต่างๆ เข้าสู่ยุทธบริเวณจำนวนมาก ทั้งจากเหล่าม้า เหล่าราบ เหล่าปืนใหญ่ เหล่าทหารช่าง หน่วยรบพิเศษ รวมทั้งการรบนอกแบบที่ต้องใช้ทหารพรานเข้าเกาะฐานที่มั่นของฝ่ายลาวด้วย
การส่งกำลังบำรุงของทหารไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเส้นทาง สภาพถนนที่ค่อนข้างแคบและขรุขระ อีกทั้งเป็นทางสูงชันคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่ค่อนข้างสูงไม่ต่ำกว่า 1000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
สาเหตุที่ทหารลาวได้ยึดเนิน 1428 ชนิดหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมถอย เท่าที่ดูจากภูมิประเทศแล้ว เนิน 1428 เป็นเนินบนยอดเขาที่สูงที่สุด สามารถมองเห็นชัยภูมิรอบๆ ได้เป็นอย่างดี และ ผตน. ของลาวจะคอยชี้เป้าให้ปืนใหญ่ยิงถล่มทหารไทยที่กำลังรุกคืบหน้าอยู่เบื้องล่างอย่างได้ผล และที่สำคัญคือ เนิน 1428 นั้นทหารลาวได้ทำบังเกอร์ถาวร (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ขุดอุโมงเชื่อมต่อกับรอบฐาน ปรับพื้นที่ ขุดร่องเหลดไว้พร้อมสรรพ เป็นฐานที่มั่นแข็งแรง สามารถทนทานการโจมตีทางอากาศได้อย่างดี น่าสงสัยว่าการข่าวของเราดีแค่ไหน ทำไมปล่อยให้ทหารลาวมาตั้งฐานที่มั่นอยู่ได้ตั้งนาน แถมวางกับระเบิดนับหมื่นๆลูกไว้เต็มไปหมด การกระทำเช่นนี้คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน และที่สำคัญที่สุดคือ การประเมินค่า ขีดความสามารถในการรบของทหารลาว ซึ่งทหารลาวในครั้งนั้นได้รับการฝึกจากเวียตนาม มีรัสเซียสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะทหารปืนใหญ่ และหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งต้องใช้ฝีมือและเทคโนโลยีเข้าช่วย จึงจะปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่ทหารไทยไม่สามารถชนะได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเราต้องต่อสู้กับกองกำลังทหารลาวและกำลังของประเทศที่ 3 พร้อมๆกันด้วยอาวุธหลายอย่างที่ทันสมัย ชัยภูมิในการรบทหารไทยเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการรบก็ต้องฟังคำสั่งจากรัฐบาล รบในกฎเกณฑ์ ทำให้การรบทำอย่างไม่เต็มที่ แถมสูญเสียกำลังผลไปอย่างมากมาย
การใช้สุนัขสงคราม ตรวจหาทุ่นระเบิด นับว่าเป็นวิธีที่ประหยัดและได้ผลดีที่สุด แต่เมื่อถึงสนามรบจริง สุนัขบางตัวกลับเดินหนีสงสัยจะเวียนหัวกลิ่นกำมะถัน เพราะลาววางไว้เต็มไปหมด นักรบบางท่านจึงต้องเหลือช่วยตนเองเอาไม้ไผ่มาทำเครื่องค้นหากับระเบิดไปพรางๆก่อน เพราะเครื่องมือตรวจค้นทุ่นระเบิดของเรามีจำนวนจำกัด
ได้ยินจากทหารที่ลงมาจากเนิน 1428 ในแนวรบระหว่าง ไทย ลาว ห่างกันแค่ 200 300 เมตรเท่านั้น เล่าให้ฟังว่า วันที่ทหารลาวสามารถสอย เอฟ 5 อี ร่วงลงได้ ทหารลาวยินดีปรีดากันทั่วหน้า แถมตะโกนบอกไทยว่ามือจรวดที่พิชิต บ. ตัวเก่งของไทย มีชื่อเสียงเรียงนามว่า "ไอ้ไฮ้" วีรบุรุษของชาวลาว
ศึกประวัติศาสตร์ ไทย ลาว ถึงแม้จะยุติกันไปนานกว่า 10 ปีแล้ว ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดของนักรบไทยและลาว อันเป็นผลจากการเจรจาของผู้นำทางทหารของแต่ละประเทศ ที่มีถ้อยคำแถลงว่า ต่อไปนี้ไทยและลาวจะไม่ตีรันฟันแทงกันอีกแล้ว เลือดไทย ลาว จะไม่มีให้เห็นกันอีกต่อไป สายสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติจะยั่งยืนเสมือนสายน้ำโขงที่ไม่มีวันเหือดแห้ง แต่คำเหล่านี้ น่าจะได้ยินก่อนที่จะเปิดยุทธการบ้านร่มเกล้า เป็นที่น่าเสียดายที่พวกนักรบที่กล้าหาญได้สังเวยชีพไปแล้วไม่มีวันจะได้ยินคำเหล่านี้ เลือดและวิญญาณของพวกเขาที่ไหลนองและสิงสถิตย์อยู่บนเนินร้าง 1428 คงทำให้เนินนรกแห่งนี้ เป็นดินแดนอาถรรพ์ต่อไปอีกนาน
หลักฐานจากข้อมูลของไทย
ฝ่ายไทย
- เสียชีวิต 147 นาย
- พิการ 55 นาย
- บาดเจ็บสาหัส 167 นาย
- บาดเจ็บเล็กน้อย 550 นาย
ฝ่าย สปปล.
- ทหาร สปปล.เสียชีวิต 286 นาย, บาดเจ็บ 301 นาย
- ทหารเวียดนาม เสียชีวิต 157 นาย, บาดเจ็บ 112 นาย
- ทหารโซเวียตเสียชีวิต 2 นาย, บาดเจ็บ 2 นาย
- ทหารคิวบา เสียชีวิต 2 นาย
**ตั้งแต่ ปี 1961-1962 และ ปี 1974-1991 โซเวียตส่งทหารเข้ามาในลาวทั้งหมด 1840 นาย เสียชีวิตในลาว 8 นาย (ได้จากการข่าวกรอง)
ข้อมูลจาก : http://variety.teenee.com/world/33412.html
สมรภูมิบ้านร่มเกล้า หรือ ยุทธการบ้านร่มเกล้า เป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 จากการสู้รบอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งฝ่ายไทยและลาว และนับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา
การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30-40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร
สาเหตุ
สมรภูมิบ้านร่มเกล้าเกิดจากกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาว เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ โดยในปี พ.ศ. 2450 สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ยึดถือจากผลการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้กำหนดให้แม่น้ำเหืองเป็นเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 เจ้าหน้าที่สำรวจแผนที่ของฝรั่งเศสได้พบว่าแม่น้ำเหืองมีสองสาย จึงได้เขียนแผนที่โดยยึดสายน้ำที่ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนมากกว่าเดิม และไม่ได้แจ้งให้รัฐบาลสยามทราบ ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐได้จัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ และได้พบแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ชื่อว่า ลำน้ำเหืองป่าหมัน ซึ่งไม่เคยปรากฏในเอกสารสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มาก่อน
ในปี พ.ศ. 2530 ทางการลาวได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนบริเวณบ้านร่มเกล้า และยกกำลังเข้ามายึดพื้นที่บ้านร่มเกล้า ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และเกิดปะทะกับกองกำลังทหารพราน 3405 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และยึดเนิน 1428 เป็นที่มั่น
ยุทธการสอยดาว
วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 กองทัพภาคที่ 3 เริ่มส่งกำลังเข้าโจมตีเนิน 1428 โดยใช้กองกำลังทหารราบและทหารม้า โดยการสนับสนุนจากกองทัพอากาศไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากฝ่ายลาวมีชัยภูมิที่ดีกว่า และได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากสหภาพโซเวียตและเวียดนาม
ผลที่ตามมา
ประเทศไทยและประเทศลาวร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว (JBC) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อปักปันพรมแดนซึ่งมีความยาว 1,810 กิโลเมตร ทั้งสองประเทศยังวางแผนที่จะเสร็จสิ้นการปันเขตแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 1,100 กิโลเมตร ภายในปี พ.ศ. 2553 โดยร้อยละ 96.3 เสร็จสิ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2550
สมรภูมิบ้านร่มเกล้า
วันที่ : 1-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
สถานที่ บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก, เมืองบ่อแตน แขวงไซยะบูลี
ผลลัพธ์ดินแดนเปลื่ยน : ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
คู่สงคราม : ไทย ลาว เวียดนาม
ผู้บัญชาการ : ชวลิต ยงใจยุทธ และ ไกสอน พมวิหาร
ความสูญเสีย 1,000 นาย
หมายเหตุ : จุดเริ่มต้นของการรบคือการส่งกำลังเข้ายึดเนิน 1428 ของฝ่ายลาวในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย |
|