| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : มาเฟียรัสเซีย
วิคเตอร์ บูท คือใคร? | บทความน่าสนใจของสำนักข่าวเอพี เรื่อง "สงครามคุกรุ่นระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ในประเด็นผู้ต้องสงสัยเป็นพ่อค้าอาวุธ "( US-Russia battle heats up over alleged arms dealer. )ระบุว่ารัสเซียขู่ไทยว่าอาวุธรัสเซียจะเกลื่อนภาคใต้ของไทย หากสหรัฐฯได้ตัววิคเตอร์ บูทไป
ก่อนลงจากตำแหน่งเมื่อ 20 มกราคมปีนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แวะเยือนไทยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เป็นการแวะระหว่างเดินทางไปเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งของจีน และหนึ่งในประเด็นที่บุชไม่ลืมจะหารือกับนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ผู้นำไทยในตอนนั้น คือ เรื่องของนักโทษคนดังชาวรัสเซีย " วิคเตอร์ บูท" เจ้าของสมญานาม The Merchant of Death หรือ พ่อค้าความตาย
บูทเป็นนักธุรกิจชาวรัสเซียผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อค้าอาวุธสงครามชื่อดังที่สุดของโลก เขาพลาดท่าเสียทีมาติดคุกอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่ถูกจับเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว ภายใต้ปฏิบัติการร่วมไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯต้องการมากที่จะให้ไทยส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ไปขึ้นศาลที่นครนิวยอร์ค ที่ซึ่งเขาถูกฟ้องร้องในข้อหาสมรู้ร่วมคิดขายอาวุธมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ให้กบฎฝ่ายซ้ายในโคลัมเบีย และเขาถูกจับที่ไทย 5 วันหลังจากรัฐบาลโคลัมเบียพบคอมพิวเตอร์ของผู้นำกบฏ FARC.ในโคลัมเบีย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเปิดเผยว่า ในตอนนั้น ประธานาธิบดีบุชต้องการย้ำกับนายกสมัครว่า เรื่องนี้สำคัญเพียงใดสำหรับสหรัฐฯ และว่าสหรัฐมีหลักฐานทางกฎหมายแน่นหนาที่จะเล่นงานบูท แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลรัสเซียเองก็อยากได้ตัวบูทจากไทยมากพอๆกับสหรัฐฯ และหลังจากหนึ่งปีของสงครามงัดข้อระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ศาลไทยอาจตัดสินชะตากรรมของบูทในสัปดาห์นี้
นักวิเคราะห์บอกว่าเวลาขึ้นศาลในไทยนั้น ทั้งฝ่ายสหรัฐฯและรัสเซียจะมางัดข้อกันในศาล โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากสถานฑูตสหรัฐฯในกรุงเทพจะคอยส่งโน๊ต หรือกระซิบคำแนะนำให้กับอัยการ ในขณะที่นักการฑูตรัสเซียสองคน นั่งประกบข้างหลังบูท คอยคุยกับภรรยาและแม่ของเขา
นายบูทเป็นอดีตทหารอากาศรัสเซียยศนาวาตรีวัย 42 ปีผู้พูดได้หลายภาษาที่ผ่านมา เขาปฏิเสธทุกความเกี่ยวข้องในเรื่องทำผิดกฏหมาย และเขาไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน แม้จะตกเป็นเป้าในมาตรการแซงชั่นของสหประชาชาติ ถูกเบลเยี่ยมออกหมายจับผ่านทางตำรวจสากลข้อหาฟอกเงิน กับสมรู้ร่วมคิดก่อคดีอาญา และถูกสหประชาชาติสั่งห้ามเดินทางเมื่อปี 2544 โทษฐานช่วยรัฐบาลไลบีเรียสร้างความไร้เสถียรภาพให้เพื่อนบ้านอย่างเซียร่า เลโอน เพื่อให้ได้มาซึ่งเพชรเถื่อน ที่รู้จักกันในนาม Blood Diamond ของแอฟริกา
ตอนขึ้นให้การในศาลไทย เขาอ้างว่ามีธุรกิจส่งสินค้าทางอากาศถูกกฏหมาย และบอกว่าเขามากรุงเทพฯเพื่อเจรจาขายเครื่องบินให้กับนักธุรกิจไทยคนหนึ่ง ขณะที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ช่วง 2 ชั่วโมงที่เขาอยู่ในกรุงเทพฯก่อนถูกจับนั้น บูทได้เสนอขายอาวุธให้กับสายลับนอกเครื่องแบบของสหรัฐที่มาล่อซื้อ รวมทั้งขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศ,ปืนอาก้า หรือเอเค-47 จำนวน 5,000 กระบอก กับเครื่องบินชนิดอุลตร้า ไลท์ ขนาด 2 ที่นั่ง ที่ติดเครื่องยิงลูกระเบิดกับขีปนาวุธได้
ในเอกสารคำร้องที่ยื่นต่อศาลที่นครนิวยอร์คนั้น สายลับสหรัฐฯที่สวมรอยเป็นกบฏ FARC ได้แกล้งบอกนายบูทว่า กบฏ FARC ต้องการอาวุธที่ใช้ยิงโจมตีอเมริกาได้โดยตรง ซึ่งนายบูทได้ถามกลับว่า พวกเขาเล็งเป้าหมายที่เที่ยวบินใดของสหรัฐฯ พร้อมเสนอจะช่วยฝึกให้พลซุ่มยิงของฝ่ายกบฏ จะยิงเครื่องบินได้แม่นๆ โดยเขาให้เหตุผลที่จะช่วยว่า เป็นเพราะมีศัตรูร่วมกันคือสหรัฐฯ (We have the same enemy.)
ช่วงอยู่ในห้องขังที่นอกศาลเมื่อเร็วๆนี้ บูทซึ่งถูกตีตรวน ตะโกนบอกนักข่าวว่าการพิจารณาคดีเรื่องส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเป็น"เรื่องจัดฉาก" เขา"ถูกใส่ความ" โดยสหรัฐฯ บูทผู้เป็นที่มาของหนังดังปี 2548 เรื่อง The Lord of War ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจ ตะโกนบอกนักข่าวว่า "ถ้าผมเป็นพ่อค้าอาวุธจริง ไหนละคือข้อพิสูจน์ "
บูทอยู่ในคุกเมืองไทยมา 1 ปีแล้ว เขาบอกว่าต้องทนกับสภาพสุดจะไร้ความเป็นมนุษย์ แสนจะไม่เหมาะสมกับคนศิวิไลซ์แล้ว เขาบ่นเรื่องอาหาร เรื่องอากาศร้อน และเรื่องอยู่ในห้องขังกับนักโทษอีก 70 คน ในห้องขังที่ออกแบบมาเพื่อขังคน 20 คน เห็นได้ชัดว่าเขาผอมลงเยอะ แต่ดูแข็งแรงและยังขู่คนอื่นได้ด้วย ( ผอมแล้วหล่อขึ้นเยอะ น่าจะขอบคุณคุกไทยนะนี่)
อันที่จริงตอนเริ่มเปิดพิจารณาคดีนี้ในไทยเมื่อมิถุนายนนั้น มองกันว่าเป็นคดีปกติที่น่าจะเสร็จโดยเร็ว เพราะไทยกับสหรัฐมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เจ้าหน้าที่เพียงต้องชี้ตัวนายบูท พิสูจน์ว่าเขาทำผิดคดีอาญาจนสมควรถูกดำเนินคดี กับพิสูจน์ว่าไม่ใช่คดีการเมือง แต่แล้วก็เกิดเหตุสารพัดที่ทำให้คดียืดเยื้อ ซึ่งรวมทั้งการที่ทนายความวัย 71 ปีของบูทล้มป่วย และพยานพากันอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งภรรยาของบูท ผู้อ้างว่าปวดหลังจนให้การไม่ได้ แม้เธอจะเดินทางไปที่ศาลได้ แถมยังแจกเอกสารปกป้องสามีให้บรรดานักข่าวได้ด้วย
ฝ่ายของบูทถ่วงเวลาจากหลายสัปดาห์เป็นหลายเดือน ขณะที่สหรัฐฯได้แต่บ่นว่ารัสเซียพยายามคว่ำการพิจารณาคดีในไทย เพื่อนำตัวบูทกลับรัสเซีย หลังจากนั้น นักการฑูตอเมริกันทุกคนที่แวะมาไทยก็สนใจจะคุยแต่เรื่องนายบูท ขณะที่รัสเซียเองก็พยายามอย่างมากที่จะนำตัวบูทออกจากไทย ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเขามีประโยชน์สำหรับฝ่ายข่าวกรองรัสเซีย และรัสเซียไม่ต้องการให้เขาไปขึ้นศาลสหรัฐฯ
ทั้งสหรัฐฯและรัสเซียต่างโทษกันและกันว่าพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทย เพื่อให้บูทได้รับการปล่อยตัว ซึ่งบทความของ AP ระบุว่า "เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติในประเทศที่ระบบยุติธรรมขึ้นชื่อลือชาเรื่องคอรัปชั่น" บทความระบุด้วยว่า รัสเซียซึ่งขายน้ำมันราคาถูกให้ไทยเมื่อปีที่แล้วและได้เจรจาจะขายเครื่องบินรบให้ไทยด้วย ได้เชิญฑูตไทยประจำกรุงมอสโคว์เข้าพบ และกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาเรียกร้องให้ไทยทำคดีนี้อย่างเป็นธรรมและไม่ลำเอียง
นายไมเคิล บรูน อดีตอธิบดีฝ่ายยุทธการของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ หรือ DEA ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลปฏิบัติการจับนายบูทที่ไทย และปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวของเอพีที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทความชิ้นนี้ และเขาระบุด้วยว่า มีรายงานมาโดยตลอดว่า รัสเซียพยายามเอาข้อตกลงเรื่องขายอาวุธกับน้ำมันมาล่อใจรัฐบาลไทยเพื่อให้ได้ตัวบูท เขาบอกว่ารัสเซียพร้อมทำทุกวิธีให้ได้ตัวเขากลับไป ไม่อยากให้เขาถูกนำตัวกลับสหรัฐเพราะอาจมีความลับที่เขานำไปเปิดเผย
เมื่อเดือนที่แล้ว มี สส สหรัฐฯมากกว่า 24 คนลงนามในจดหมายถึงนายอีริค โฮลเดอร์ รัฐมนตรียุติธรรม กับนางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความวิตกว่า บูทอาจตกไปอยู่ในมือรัสเซีย ขณะที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่า ความวิตกของสมาชิกสภาสหรัฐฯเป็นเรื่องของความสับสน
ไมเคิล มอนเตซาโน่ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ บอกว่า ถ้าดูในด้านเอกสาร รัสเซียสู้สหรัฐฯไม่ได้เรื่องอิทธิพลในไทย ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯย้อนหลังไปได้ 175 ปีและมีการให้ความช่วยเหลือกับลงทุนในไทย แต่ไทยเองอาจไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯ เขาเตือนด้วยว่าสถานฑูตสหรัฐฯอาจกดดันไทยมากเกินไป จนไปกวนความรู้สึกไม่ดีในหมู่ชาวไทย เพราะสหรัฐฯขึ้นชื่อว่าชอบเล่นแรงๆกับไทยมานานแล้ว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนสนับสนุนให้ส่งบูทในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐฯ เพราะอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะเอาผิดเขาได้ แต่กลุ่ม Global Witness ในอังกฤษกลัวว่า ความพยายามจะสมานสัมพันธ์กับรัสเซีย อาจทำให้ในที่สุด สหรัฐฯยอมอ่อนข้อให้กับรัสเซียเรื่องนายบูท
อเล็กซา เยียสเลย์ นักรณรงค์คนหนึ่งบอกว่า หากพลาดโอกาสนี้ คงไม่มีโอกาสจะเล่นงานนายบูทอีกแล้ว เพราะเขาคงไม่โง่พลาดซ้ำสองอีก เยียสเลย์อ้างด้วยว่าแหล่งข่าวของเขาบอกว่า รัสเซียได้ขู่ไทยว่าหากศาลตัดสินให้ส่งตัวนายบูทให้สหรัฐฯ จะมีอาวุธรัสเซียเกลื่อนภาคใต้ของไทยที่กำลังมีปัญหาอยู่
สหประชาชาติกับรัฐบาลของหลายชาติ รวมทั้งสหรัฐฯเล่นเกมแมวจับหนูกับบูทมาเกือบ 25 ปีแล้วเพราะหาหลักฐานทำอะไรเขาไม่ได้ ในขณะที่มีข้อกล่าวหาว่า เขาให้การสนับสนุนด้านอาวุธที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เครือข่ายบริษัทของบูทมีเครื่องบิน 50 ลำ และสหประชาชาติสงสัยว่าบรรดาลูกค้าของเขา รวมทั้งบรรดาขุนศึกและผู้นำเผด็จการ กับมีข้อกล่าวหาว่าเขาส่งอาวุธให้ตาลีบันกับอัล ไกด้าด้วย
ข้อกล่าวหาในช่วงหลังๆของเขาคือ ส่งอาวุธให้พวกก่อกาารร้ายอิสลามในโซมาเลีย กองโจรเฮซโบเลาะว์ในเลบานอน กับฝ่ายสนับสนุนรัสเซียในจอร์เจีย ซึ่งแน่นอนว่าเขาปฏิเสธทุกข้อหา เพราะงานประเภทนี้ไม่มีใบเสร็จรับเงิน
เยียสเลย์บอกว่า สาเหตุที่ก่อนหน้านี้บูทรอดมาโดยตลอด ทั้งที่มีข้อกล่าวหามากมายจากนานาชาติ เป็นเพราะเขาได้รับการปกป้องจากกองทัพและหน่วยข่าวกรองรัสเซีย ทางการรัสเซียปฏิเสธที่จะส่งตัวเขาให้เบลเยี่ยมหรือชาติใดใด เขาใช้ชีวิตอิสระในกรุงมอสโคว์ มีเพื่อนฝูงมากมายรวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีอีกอร์ เซชิน และหลังจากเขาถูกจับที่ไทยได้ไม่นาน สภาล่างรัสเซียหรือดูมา ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ส่งเขากลับรัสเซีย
มีรายงานด้วยว่า เครื่องบินของบูทเคยไปโผล่ที่อิรักหลังสหรัฐฯบุกอิรักด้วย โดยเครื่องบินของบูทขนส่งเสบียงให้ทหารอเมริกัน และขนยุทโธปกรณ์ไปให้กระทรวงกลาโหมอิรัก เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเคยยอมรับเมื่อปี 2547ว่า บริษัทต้องสงสัยของบูททำงานเป็นผู้รับเหมาช่วง ให้ Fedex กับ KBR แม้จะตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจในเวลาต่อมา
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2549 ตอนที่ปืนไรเฟิ้ลจู่โจมอาร์ก้า 2 แสนกระบอกหายไประหว่างส่งจากบอสเนียไปอิรัก หนึ่งในฝูงบินของบูทก็เป็นคนขน และมีข้อกล่าวหาด้วยว่าหนึ่งในหุ้นส่วนในธุรกิจค้าอาวุธของเขาคือ อดีตรองนายกฯ ฮาซัน เซนจิค ของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีน่า บทบาทของบูทในอิรักอาจทำให้คดีของเขายิ่งซับซ้อน หากมีการส่งตัวเขาไปดำเนินคดีในสหรัฐฯจริงๆ
บทความปิดท้ายด้วยการอ้างถึงผู้พิพากษาในคดีนี้ คือท่านผู้พิพากษาจิตรกร พัฒนศิริ ที่บอกว่าตระหนักดีเรื่องความสำคัญของคดีนี้ และว่าได้ขอร้องให้กระทรวงการต่างประเทศไทยออกแถลงการณ์หลังการพิจารณาคดีครั้งต่อไปด้วย บทความระบุด้วยว่า ท่านผู้พิพากษาได้บอกกับอัยการว่า ท่านอยู่ในฐานะลำบากเพราะอาจเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งกับสหรัฐ และกับรัสเซียได้ และว่ากว่าคดีนี้จะยุติ ท่านอาจขอวีซ่าเข้าประเทศไม่ได้ทั้งจากรัสเซียและสหรัฐฯ
ที่มาจาก @cloud |
|