| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : 12 ประเทศในเครือรัฐเอกราช
คาซัคสถาน (Kazakhstan) | ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
คาซัคสถาน (อังกฤษ: Kazakhstan; คาซัค: Қазақстан, Qazaqstan [qɑzɑqˈstɑn]; รัสเซีย: Казахстан, Kazakhstán [kɐzəxˈstɐn]) มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐคาซัคสถาน (อังกฤษ: Republic of Kazakhstan)
เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ครอบคลุมกว้างขวางในทวีปเอเชีย และเป็นสาธารณรัฐในอดีตสหภาพโซเวียต มีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศในเอเชียกลาง ได้แก่ คีร์กีซถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน และมีชายฝั่งบนทะเลแคสเปียน คาซัคสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก อย่างไรก็ดี มีพื้นที่กึ่งทะเลทราย (steppe) อยู่มาก จึงมีประชากรเป็นอันดับที่ 57 มีประมาณ 6 คน/ตร.กม.
มรดกโลกของคาซัคสถาน
Saryarka Steppe and Lakes of Northern Kazakhstan (ซาร์ยาร์กา-ทุ่งหญ้าและทะเลสาบทางตอนเหนือของคาซัคสถาน)
ทุ่งหญ้าซาร์ยาร์กาและทะเลสาบประกอบด้วยเขตป่าสงวน ๒ ส่วน คือ เขตป่าสงวนของรัฐนาวร์ซัม (Nauzam) และเขตป่าสงวนของรัฐคอร์กาลชิน (Korgalzhyn) ทั้ง ๒ แห่งครอบคลุมพื้นที่รวม ๔๕๐,๓๔๔ เฮคเตอร์ บริเวณนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของนกน้ำอพยพ รวมทั้งนกพันธุ์อื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งนกกระเรียนขาวไซบีเรียที่หายาก นกกระทงดาลเมเชียน(Dalmatian pelican) นกอินทรีย์พัลลาส (Pallass fish eagle)ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก
แผ่นดินชุ่มน้ำเหล่านี้เป็นจุดพักสำคัญ และเป็นทางแยกบนเอเชียกลางของนกที่บินมา จากแอฟริกา ยุโรป และเอเชียใต้ เพื่อไปยังแหล่งขยายพันธุ์ในไซบีเรียตะวันตกและตะวันออก บริเวณทุ่งโล่งกว้างใหญ่ ๒๐๐,๐๐๐ เฮคเตอร์ในเอเชียกลางซึ่งรวมอยู่ในบริเวณนี้เป็นที่พักพิงของพันธุ์พืชและสัตว์ กว่าครึ่งของสายพันธุ์พืชจากทุ่งหญ้าซาร์ยาร์กา นกหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ กวางไซก้า(Saiga antelope)ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้เคยมีมากและลดลงอย่างรวดเร็วเพราะถูกไล่ล่า พื้นที่แห่งนี้รวมกลุ่มทะเลสาบน้ำจืดและน้ำเค็มไว้ ๒ กลุ่ม ตั้งอยู่บนที่สูงระหว่างแม่น้ำที่ไหลไปทางเหนือ สู่มหาสมุทรอาร์คติคและที่ไหลไปทางใต้สู่อ่างเก็บน้ำอาร์ล-เออร์ทัช(Aral-Irtysh)
Mausoleum of Khoja Ahmed Yasawi (สุสานของโคจา อาห์เหม็ด ยาซาวี)
สุสานนี้ตั้งอยู่ในมืองยาซี(Yasi) ซึ่งปัจจุบันคือเตอร์กคิสถาน ถูกสร้างขึ้นในสมัยของติมอร์ (Timur) (ทาเมอร์เลน Tamerlane) ตั้งแต่ปี คริสต์ศักราช ๑๓๘๙-๑๔๐๕ (พุทธศักราช ๑๙๓๒-๑๙๔๘) อาคารบางส่วนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ช่างก่อสร้างฝีมือเอกของเปอร์เซียได้ทดลองใช้โครงสร้างและสถาปัตยกรรม ซึ่งต่อมาในภายหลังได้ใช้ในการก่อสร้างซามาร์คาน(Samarkand) เมืองหลวงของจักรวรรดิตีมูร์ (Timurid) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตที่สุดและได้รับการอนุรักษ์โครงสร้างไว้อย่างดีที่สุด
Petroglyphs within the Archaeological Landscape of Tamgaly (จิตรกรรมขูดหินภายในภูมิทัศน์ทางโบราณคดีแห่งทัมกาลีย์)
บริเวณนี้ตั้งอยู่รอบ ๆ หุบผาสูงที่เขียวชอุ่มท่ามกลางภูเขาชูอิลี่(Chu-Ili) ที่กว้างใหญ่และแห้งแล้ง ที่นี่เป็นที่รวมของภาพสลักหินมากมายราว ๕,๐๐๐ แห่ง อายุ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชจนคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (พุทธศตวรรษที่ ๒๕) ตอนต้น หินเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณ ๔๘ แห่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานและสุสาน เป็นหลักฐานว่าได้มีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มีองค์กรทางสังคมและศาสนพิธีของคนเลี้ยงสัตว์ การตั้งบ้านเรือนของมนุษย์ในบริเวณนี้มักเป็นหลายชั้น และแสดงถึงอาชีพที่ทำในยุคนั้น หลุมฝังศพจำนวนมากมายที่ได้พบ จะมีหินปิดทับอยู่และมีหีบต่าง ๆ (ยุคกลางและปลายยุคสัมฤทธิ์) และกองหินและกองดิน (ต้นยุคเหล็กจนถึงปัจจุบัน) หุบเขาลึกตรงกลางเป็นบริเวณที่มีหินสลักจำนวนมาก และเชื่อว่าจะเป็นที่สักการะบูชา แสดงว่าเป็นสถานที่บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
|