เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : 12 ประเทศในเครือรัฐเอกราช
เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
เติร์กเมนิสถาน (อังกฤษ: Turkmenistan) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง มีพรมแดนติดกับคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน และมีชายฝั่งบนทะเลแคสเปียน เติร์กเมนิสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
การเมืองของเติร์กเมนิสถาน อยู่ในกรอบของระบอบสาธารณรัฐแบบมีประธานาธิบดี (a presidential republic) โดยที่ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและเป็นประมุขรัฐบาล มีระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว (a single-party system) แต่กำลังจะพัฒนาเป็นระบบพรรคการเมืองหลายพรรค (a multi-party system)
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีตกาล เติร์กเมนิสถานตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด Khurasan ของอาณาจักรเปอร์เซียมาหลายศตวรรษ ในช่วงยุคกลางเมือง Merv (ปัจจุบันคือเมือง Marry) เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของโลกอิสลามและเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งบนเส้นทางสายไหม (Silk Road) เติร์กเมนิสถานถูกรัสเซียผนวกระหว่างปี ค.ศ. 1865-1885 และเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพในปี ค.ศ. 1924 ได้รับเอกราชภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1991 แม้ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนาแต่เป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองไฮโดรคาร์บอนและแก๊สธรรมชาติอย่างมหาศาล รัฐบาลของเติร์กเมนิสถานกำลังพัฒนาเส้นทางขนส่งปิโตรเลียมของตนเองโดยจะไม่พึ่งพาท่อส่งปิโตรเลียมของรัสเซีย ประธานาธิบดี Saparmurat NYYAZOW ซึ่งเป็นประธานาธิบดีประเภทตลอดชีวิต ได้เสียชีวิตลงเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 และเติร์กเมนิสถานได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากผู้สมัครหลายคนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ผลปรากฏว่า นาย Gurbanguly BERDIMUHAMEDOW รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนาย NYYAZO ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ
สภาวะทางเศรษฐกิจเติร์กเมนิสถาน
เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยทะเลทราย มีการเลี้ยงปศุสัตว์แบบเร่ร่อน ซึ่งม้าพันธุ์ Akhaltekin ของเติร์กเมนิสถานเป็นม้าพันธุ์ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก มีการทำการเกษตรขนาดหนักในพื้นที่ชลประทาน ซึ่งมีการปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 10 ของโลก สินค้าเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ ไหม ขนสัตว์ หนังแกะอ่อน ชะเอม และฟัก นอกจากนี้ เติร์กเมนิสถานยังมีแหล่งน้ำมันและบ่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาก ทำให้เติร์กเมนิสถานเป็นผู้ส่งออกน้ำมันกลั่นรายสำคัญ โดยผลิตน้ำมันได้ประมาณปีละ 4 ล้านเมตริกตัน และมีปริมาณน้ำมันสำรอง 700 ล้านเมตริกตัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย อีกทั้ง เติร์กเมนิสถานยังเป็นประเทศเดียวของกลุ่ม CIS ที่มีโรงงานแปรรูปน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องบิน และในปัจจุบัน บริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในด้านการสำรวจน้ำมันแล้ว อาทิ UNICAL ของสหรัฐฯ DELTA ของ ซาอุดิอาระเบีย และ PETRONAS ของมาเลเซีย ทำให้เติร์กเมนิสถานต้องดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของต่างชาติในประเทศ
มรดกโลกของเติร์กเมนิสถาน
State Historical and Cultural Park "Ancient Merv" (อุทยานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมียร์ฟโบราณ)
เมียร์ฟเป็นเมืองเก่าแก่และเป็นเมืองโอเอซิสบนเส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี บริเวณซากที่เหลือในโอเอซีสอันกว้างใหญ่นี้ แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยาวนานกว่า ๔,๐๐๐ ปี อนุสรณ์มากมายยังคงมีให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีผ่านมา
Kunya-Urgench (คูเนีย อูร์เกนช์)
บริเวณตั้งอยู่ในตะวันออกเฉียงเหนือของเตอร์กเมนิสถาน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำอามูดาเรีย(Amu Daria) อูร์เกนช์เป็นเมืองหลวงบริเวณโคเรสซั่ม(Khorezm) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอาเคเมนิด(Achaemenid) เมืองเก่ามีอนุสรณ์สถานมากมายส่วนใหญ่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑) รวมทั้งสุเหร่า ประตูคาราวานเซราย(caravanserai) ป้อมปราการ สุสานที่มียอดสูง ๖๐ เมตร อนุสรณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางสถาปัตยกรรม และงานหัตถกรรมซึ่งมีอิทธิพลต่ออิหร่านและอัฟกานิสถาน และภายหลังเป็นสถาปัตยกรรมของจักรวรรดิโมกุล(Mogul) แห่งอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (พุทธศตวรรษที่ ๒๑)
Parthian Fortresses of Nisa (ป้อมปาร์เทียน(Parthian)แห่งนีซา)
ป้อมปาร์เทียนแห่งนีซาประกอบด้วยนีซาเก่าและนีซาใหม่ แสดงให้เห็นที่ตั้งเมืองในยุคต้นที่สำคัญที่สุดของจักรวรรดิปาร์เทียน ซึ่งเป็นมหาอำนาจตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงคริสตศวรรษที่ ๓ (พุทธศตวรรษที่ ๘) บริเวณอนุรักษ์ซึ่งยังไม่ได้ทำการขุดค้น แสดงให้เห็นอารยธรรมโบราณ ซึ่งประสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของคน เข้ากับองค์ประกอบของเฮลเลนนิสติค(Hellenistic)และโรมันตอนใต้ การขุดค้นแหล่งโบราณคดีในแหล่งทั้งสอง แสดงให้เห็นสถาปัตยกรรมการตกแต่ง ภาพอาคารบ้านเรือน สภาพและหน้าที่ของศาสนา บริเวณนี้ตั้งอยู่ตรงจุดสำคัญของแหล่งค้าขาย และทางยุทธศาสตร์ อาณาจักรที่ทรงอำนาจนี้เป็นเครื่องกีดขวางการแผ่ขยายของโรมัน ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของการคมนาคม และการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตก เหนือและใต้