ย้อนรอยรัสเซีย
แม้รัสเซียจะมีภาพลักษณ์เป็นประเทศล้าหลังในยุโรปสักปานใดก็ตามแต่ เมื่อพูดถึงปราสาทราชวังอันสวยงามวิจิตร ภาพเขียน รูปปั้น และวัตถุอัน ล้ำค่าเช่น บรรดาเครื่องเพชรมากมายหลายพันหลายหมื่นชิ้นที่ซ่าร์ จักรพรรดินี และพระบรมวงศานุวงศ์ยุคต่าง ๆ ทรงมีอยู่ในครอบครองนั้น เรียกได้ว่าอาณาจักรรัสเซียมี ของดี ไม่แพ้ใครเลย ดูจะมากมายกว่าใคร อื่นเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น คราวที่ ซาร์นิโคลัสที่ 2 และซารินา อเล็กซานดรา ซาร์และซารินาคู่สุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟFaberge Eggs เสด็จเยือน อังกฤษเพื่อถวายความเคารพแด่ สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาแท้ๆ ของ ซารินา อเล็กซานดรา เครื่องเพชรชิ้น ธรรมดาๆ ที่ซ่ารินาใส่ประดับพระองค์นั้น มีจำนวนและมีค่ามากกว่าเครื่อง เพชรของพระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ มากมาย หากจะคุยเรื่อง ของดี ของรัสเซียยุคราชอาณาจักรแล้วจำเป็น ต้องคุยละเอียดถึง ไข่ฟาแบร์เช เสียด้วยเพราะใน ยุคนั้นรวมทั้งในยุคปัจจุบันงานฝีมือที่มีความงดงาม ละเอียด ประณีต และ ไฮ-เทค ดังเช่น เครื่องเพชร เครื่องทองของฟาแบร์เช โดยเฉพาะ ไข่อีสเตอร์ของเขานั้น เห็นจะหางานชิ้นใดมาทาบได้ยาก
ฟาแบร์เช เป็นนามสกุลของ ปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช Peter Carl FabergeGustav Faberge ก่อนที่ชื่อของเขาจะดัง ระบือโลก บิดาของเขาคือ นายช่าง ทอง กุสตาฟ ฟาแบร์เช ซึ่งอพยพมาจากฝรั่งเศส ได้มีร้านเพชรอยู่ในย่าน คนรวย ในกรุง เซนต์ ปีเตอร์เบิร์ก มาตั้งแต่ ค.ศ. 1842 ชิ้นงานของฟาแบร์เชผู้พ่อแม้ว่าจะเป็นงานเพชร งานทอง ที่มีฝีมือประณีต แต่ก็ยังอยู่ในระดับธรรมดา และเป็นที่รู้จักในวงจำกัด คาร์ล ฟาแบร์เช เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1846 ในเยาว์วัยเขามีชีวิตที่ใกล้ชิด กับงานฝีมือของบิดาจนซึมซับเข้าไปในจิตใจ อีกทั้งเขายังสามารถลง มือประดิษฐ์งานได้หลายชิ้นตั้งแต่อายุยังน้อยในปี ค.ศ. 1872 เมื่อเขามีอายุได้ 26 ปี เขารับ ช่วงการบริหารจัดการร้านเพชรทองมาจากบิดา และได้ขยายงานให้ใหญ่โตกว้างขวางอีก หลายเท่า เขามีช่างฝีมือชั้นยอดมากถึง 500 คน และมีร้านใหญ่โตสวยงามในนามของ The House of Faberge ตั้งอยู่ที่ถนน Bolshaya Morshaya ในกรุง เซนต์ ปีเตอร์สเบริ์ก งานของฟาแบร์เชผู้ลูกได้รับความนิยมเกินหน้าบิดา มิใช่เพราะว่าฝีมือของเขา ประณีตกว่า ออกเแบบได้สวยกว่า และใช้อัญมณีล้ำค่ากว่าเท่านั้น แต่เขายังใส่เทคนิคล้ำยุคนา นาชนิดเข้าไปในงานแต่ละชิ้นอีกด้วยเช่น ล็อคเก็ต หรือกล่องบุหรี่ หรือเข็มกลัด จะมีตะขอ มีสปริงที่ช่วยให้วัตถุสวยงามนั้น ๆ เคลื่อนไหวได้เหมือนจริง หากเป็นสัตว์ ก็จะเปิดปากหรือ กลอกตา หรือก้าวเดินได้ หากเป็นดอกไม้ ใบไม้ ก็จะขยับเขยื้อนได้ราวถูกลมพัด ถ้าใช้ภาษาเกิน จริงสักนิดก็คือ ชิ้นงานทุกชิ้นของฟาแบร์เชมี ฤทธิ์ เหนืองานของช่างคนอื่นทั้งนั้น แล้วก็มาถึงปีทองของคาร์ล ฟาแบร์เชคือปี ค.ศ. 1885 ที่เขาได้รับมอบหมายไว้ วางพระราชหฤทัยจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ให้ประดิษฐ์ ไข่อีสเตอร์ ถวายแด่พระองค์ เพื่อ มอบให้เป็นของขวัญวัน อีสเตอร์ แก่ ซารินา มารีอา ฟีโอโดรอฟนา Tsarina Maria Fyodorovna อดีตเจ้าหญิง ดักมาร์แห่ง เดนมาร์ก พระมเหสี การเฉลิมฉลอง วันอาทิตย์อีสเตอร์ Easter Sunday เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวคริสต์ทุกนิกาย ที่เป็นโอกาสแสดงความยินดีปรีดาต่อการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เจ้า หลังจากได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในวันศุกร์ก่อนหน้านั้นเรียกว่า Good Friday ต่อมาไข่ไก่จริง ๆ ถูกแทนที่ด้วยวัตถุรูปไข่เช่น ไม้กลึง หิน แก้ว หรือโลหะและอัญมณีอันล้ำค่า ซึ่งถูกนำมาตกแต่งด้วยวัตถุมีค่าต่าง ๆ จนกลายเป็นไข่ที่วิลิศที่สุดของแต่ละปี แต่ไข่อีสเตอร์ใด ๆ ก็ไม่สวยงามขึ้นชื่อลือชาและมีความสำคัญมากเท่ากับไข่อีสเตอร์ของซาร์แห่งรัสเซีย โดยฝีมือของคาร์ล ฟาแบร์เช ไข่อีสเตอร์ของซาร์ The Imperial Easter Eggs
เมื่อ คาร์ล ฟาแบร์เช เริ่มผลิตงานประดิษฐ์ชิ้นต่างๆ เสนอขายต่อพระบรมวงศานุวงศ์และผู้มีอันจะกินชาวรัสเซียในกรุงเซนต์ ปีเตอรเบิร์ก และกรุงมอสโกไม่นาน งานประดิษฐ์ของเขาได้กลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่คนเหล่านั้น จนแทบจะดับรัศมีชิ้นงานของช่างคนอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากสีสันซึ่งผิดแผกไปจากงานของช่างอื่นๆ อีกทั้งฝีมือของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนอัญมณีอันมีค่า หรือการตัด การขด การถักทอเส้นลวดเงินลวดทอง ก็ละเอียดประณีตน่าใช้น่าทะนุถนอม ตัวอย่างเรื่องสีสันก็เช่นกัน งานของคนอื่นนิยมการลงยาเป็นสีฟ้า สีชมพู หรือสีเหลือง แต่งานของฟาแบร์จะแหวกแนวสีเดิมออกไปเป็นสีเขียวหม่น สีทองคร่ำ สีชมพูหม่น หรือสีแสดขุ่นแซมด้วยสีเนื้อ และสีทองแซมด้วยอัญมณีมีค่าที่มีแนวสีกลมกลืน หรือตัดกันอย่างเหมาะเจาะ งานประดิษฐ์ของฟาแบร์เชได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาในงานสังสรรค์ของพวกเจ้า นายบ่อยขึ้น จนความทราบไปถึงพระกรรณของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ซึ่งถึงกับทรงขอทอด พระเนตรงานชิ้นเอกบางชิ้น ของฟาแบร์เชอย่างจะจะกันเลย แล้วก็ทรงพอพระราชหทัยเป็นอย่างยิ่ง ปี ค.ศ. 1885 เป็นปีครบรอบวันอภิเษกสมรส 20 ปี ของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กับซารินามารีออ ฟีโดโดรอฟนา อดีตเจ้าหญิงแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซาร์อเล็กซานเดอร์ต้องการพระราชทาน ไข่อีสเตอร์ Easter Eggs ในลักษณะพิเศษสุดให้แก่พระมเหสี ในวันอีสเตอร์ของปีอันเป็นมงคลนั้น พระองค์จึงทรงมีพระราชบัญชาให้คาร์ล ฟาแบร์เชประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์ขึ้นมาในศิลปะที่สวยงามวิจิตร ตามแบบฉบับของ ฟาแบร์เช โดยเขาจะต้องไม่ลืมว่า นอกจากความสวยงามประณีตและมีค่าแล้ว ข้อแม้ที่สำคัญที่สุดคือ ไข่นั้นจะต้องมีสิ่งที่สร้างความประหลาดใจชนิดตื่นตาตื่นใจให้แก่พระองค์ด้วย
ในปีนั้น คาร์ล ฟาแบร์เช มีวัยได้ 37 ปี แม้ว่าเขาจะเป็นช่างศิลป์ที่มีผลงานประดิษฐ์ชั้นยอดมาแล้วมากมายหลายชิ้นก็ตาม แต่เขาก็ต้องใช้เวลาคิดวางแผนและอำนวยการประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์ใบสำคัญใบนั้นด้วยความสุขุมรอบคอบ เขาได้ใช้เวลานานพอใช้ทีเดียว อีกทั้งต้องสรรหาวัสดุที่สวยงามและมีค่าที่สุด เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่ไข่ใบนั้น เช้ามืดของวันอีสเตอร์ปีนั้นคาร์ลฟาแบร์ได้เดินทางเข้าไปในพระราชวัง พร้อมด้วยกล่องใส่ไข่อีสเตอร์ใบพิเศษที่ทุกคนที่รู้เบื้องหลังต่างเฝ้ารอคอยที่จะได้เห็นด้วยตา ของตนเองอย่างกระหาย เมื่อซาร์ทรงเปิดกล่องออก ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นไข่ขนาดของจริง ลงยาเคลือบมันธรรมดาๆ ไม่มีสิ่งใดพิเศษให้ตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อทรงเปิดไข่ใบนั้นออก ก็ทรงพบไข่แดงสีทองอยู่ภายในใข่แดงนั้นเปิดออกได้อีกชั้นหนึ่ง มีแม่ไก่ทองตัวเล็กๆ อยู่ภายในนั้น แม่ไก่ทองตัวนั้นกกสิ่งมีค่าอยู่กับอก คือ มงกุฏของซาร์ขนาดจิ๋วมีรายละเอียดเหมือนของจริงทุกประการทำด้วยเพชรแท้ ข้าง ๆ มงกุฏมีไข่ใบจิ๋วอีก 1 ใบทำด้วยทับทิมสีแดงสดวางเคียงกันปรากฏว่าไข่อีสเตอร์ใบแรก จากฝีมือแบร์เช (ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีร่องรอยเหลืออยู่แล้ว) เป็นที่พอพระทัยของซาร์และซารินาอย่างยิ่ง ตั้งแต่วันนั้นคาร์ล ฟาแบร์เช จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้เป็นนายช่างทองประจำราชสำนักโรมานอฟ และมีภารกิจสำคัญในการประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์ปีละใบถวายแด่ซาร์ กติกาเดิมของไข่ฟาแบร์เชใบใหม่คือ จะต้องมีสิ่งที่ให้ซาร์ตื่นตาตื่นใจให้ได้ในแต่ละปี อย่างที่เรียกว่าไม่ซ้ำแบบใครซึ่งคาร์ลฟาแบร์เช ตระหนักดี เขาได้ประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์ถวายซาร์ เป็นประจำทุกปี รวมทั้งสิ้น 14 ใบ
จนถึงปี ค.ศ.1894 ซาร์อเล็กซานเดอร์ได้เสด็จสวรรคตหลังจากประชวรอยู่ไม่นาน เมื่อมีพระชนมายุเพียง 49 พรรษาเท่านั้น มกุฎราชกุมารนิโคลัส ได้ขึ้นครองบัลลังก์โรนอฟสืบต่อจากพระราชบิดา เป็นซาร์นิโคลัสที่ 2 ในวัย 26 พรรษา ขณะที่พระคู่หมั้นที่เตรียมจะอภิเษกสมรสภายในเวลาอันไม่นาน ซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นบุรุษรูปงามซึ่งมีความรู้รอบตัวด้านศิลปะแขนงต่างๆ อีกทั้งยังไม่เต็มพระทัยและไม่พร้อมที่จะปฎิบัติพระราชภารกิจในฐานะซาร์ที่เข้มแข็ง และรับผิดชอบเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองอย่างเต็มที่ ดังเช่นพระราชบิดาและซาร์พระองค์อื่นก่อนหน้านี้ พระราชภารกิจทั้งปวง ซาร์องค์ใหม่ปล่อยให้ข้าราชการจำพวก ข้าหลวงเดิม ปฎิบัติไปตามวิเทโศบายที่พระราชบิดาได้วางไว้แล้ว คือ รวบอำนาจการปกครองมาอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ โดยไม่พิจารณาถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคนั้นว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียงใด สิ่งหนึ่งซึ่งซาร์องค์ใหม่ทรงดำเนินรอยตามพระราชบิดาคือ ทรงมีพระราชบัญชาให้ คาร์ล ฟาแบร์เช ประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์ถวายเป็นประจำทุกปี หากแต่ได้ทรงเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นปีละ 2 ใบคือสำหรับ ซารินาอเล็กซานดรา พระมเหสี และสำหรับพระราชชนนีด้วย
ต่อมาในแต่ละปี คาร์ล ฟาแบร์เช ต้องประดิษฐ์ไข่ฟาแบร์เชเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 2 ใบคือกลายเป็นว่าโอกาสที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ หรือเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีตคาร์ลก็จะต้องผลิตไข่ให้เหมาะสมต่อกาลเทศะนั้นๆ ด้วยเหตุนี้นอกจาก ไข่อีสเตอร์ ในแต่ละปีที่ฟาแบร์เชผลิตระหว่าง ค.ศ.1885-1916 แล้วยังมีไข่ฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกของซาร์นิโคลัสที่ 2 ในค.ศ.1896...ไข่ฉลองพิธีเปิดทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียในปี ค.ศ.1900....ไข่ฉลอง 200 ปี กรุงเซน ปีเตอร์เบิร์ก ในปี ค.ศ.1903...ไข่ฉลอง 100 ปีชัยชนะต่อนโปเลียน ค.ศ.1812-1912 ไข่ฉลองมกุฎราชกุมารอเล็กเซปี ค.ศ.1912 รวมทั้งไข่ซึ่งเป็นของขวัญกรณีพิเศษ ที่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้พระราชทานแด่พระราชธิดา 4 พระองค์ |