"ทุกประเทศในโลกเปรียบเสมือนนักไต่เขาบนเชือกเส้นเดียวกัน
ซึ่งอาจจะขึ้นถึงยอดเขา หรือ หล่นลงมาพร้อมๆ กัน"
วาทะนี้เป็นของมิกคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำของรัสเซียคนสุดท้ายก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย มิกคาอิล กอร์บาชอฟ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1931 ในหมู่บ้านปริโวโน ใกล้สตาฟโรโปล ในคอเคซัสทางเหนือ (ระหว่างทะเลดำและทะเลสาบแคสเปียน) เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจน แต่ครอบครัวของเขาได้เปรียบครอบครัวชาวนาอื่นๆ คือปู่และพ่อของเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ในยุคที่จอมเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ได้เริ่มกำจัดชาวนาที่มีฐานะดีซึ่งมีที่นาเป็นของตนเอง และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ซึ่งเรียกว่า กูลัคส์ (Kulaks) พวกนี้ถูกริบที่นาหรือไม่ก็ถูกฆ่า ผลิตผลที่ได้ก็ถูกสตาลินริบไปทั้งหมด ทำให้เกิดความอดอยากขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1930-1939 ทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 75 ล้านคน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กอร์บาชอฟทำงานเป็นผู้ดำเนินการสันนิบาตคอมมิวนิสต์หนุ่ม สิ่งดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเขา เพราะในเวลาต่อมาสหภาพโซเวียตจะมีพรรคการเมืองอยู่พรรคเดียวเท่านั้นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งโซเวียต คนที่จะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปจะต้องเป็นสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อและการสนับสนุนจากสมาชิกคนอื่นๆ ให้เข้ามาเป็นสมาชิก ไม่ใช่เพราะเกิดจากความต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกของผู้นั้นเอง ระยะแรกจะอยู่ในระหว่างทดลอง คนที่เป็นสมาชิกจะต้องแสดงความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือทางการเมืองให้ปรากฏก่อนที่จะเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์
เมื่อกอร์บาชอฟอายุได้ 19 ปี เขาได้เข้าศึกษาต่อวิชากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยมอสโคว์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหภาพโซเวียต ด้วยผลการเรียนที่ดีเด่นจนได้รับเหรียญเงินและเหรียญทอง เขาได้พบกับ ไรซา มาคซิโมวนา ภรรยาของเขาซึ่งเป็นนักศึกษาที่นี่เช่นเดียวกันและแต่งงานกันในเวลาต่อมา
พอสำเร็จการศึกษา กอร์บาชอฟ ก็ได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสันนิบาตคอมมิวนิสต์หนุ่มสาว งานซึ่งนำเขาไปสู่การเลื่อนชั้นอย่างรวดเร็ว เขายังได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตรทางไปรษณีย์และได้รับปริญญาอีกสาขาหนึ่ง
เมื่อกอร์บาชอฟอายุได้ 42 ปี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการการเกษตรในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ครอบครัวของเขาจึงต้องอพยพมาอยู่ในมอสโคว์ ไรซา ภรรยาของเขาเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยมอสโคว์
กอร์บาชอฟทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ปฏิเสธที่จะรับสินบนใดๆ การเสียสละของเขาที่มีต่อพรรคและหลักการของพรรค ทำให้เขาได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในวงการเมืองโซเวียต ในปี ค.ศ.1980 เขาได้เป็นสมาชิกเต็มขั้นของโปลิตบูโรว์อันทรงอำนาจ ขณะมีอายุได้ 49 ปี
และแล้วผู้นำอาวุโสคนก่อนๆ ของสหภาพโซเวียตได้เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน นับตั้งแต่ เบรสเนฟ แอนโดรปอฟ และ คอนสแตนติน เชอร์เนนโก ซึ่งกอร์บาชอฟเป็นผู้นำในพิธีศพ เขาเป็นผู้ยืนอยู่ข้างหลังโลงที่บรรจุศพของเชอร์เนนโก ที่จัตุรัสแดง ในกรุงมอสโคว์ โลกทั้งโลกได้มองเห็นความเป็นบุคคลสำคัญของกอร์บาชอฟจากพิธีศพ ว่าเขาคือเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งในปี ค.ศ.1987
ประเทศโซเวียตซึ่งในขณะนั้นได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ในด้านการทหารและเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นรองสหรัฐอเมริกาก็ในด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เมื่อกอร์บาชอฟเข้าบริหารประเทศในตอนนั้น โซเวียตกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุดของประเทศอุตสาหกรรมในหลายๆ ด้าน โรงงานขาดวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับโซเวียตไม่สามารถปลูกพืชผลเพื่อเลี้ยงพลเมืองได้อย่างเพียงพอ ทำให้สินค้าอุปโภคและบริโภคขาดแคลน ประชาชนต้องเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อซื้ออาหาร กอร์บาชอฟรู้ดีว่าปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาทั้งหมดเกิดจากสาเหตุที่ว่า รัฐได้เข้าควบคุมกิจการในทุกด้านทั้งหมด การจะดำเนินการอะไรก็ตามจะต้องได้รับการอนุญาตก่อน ก่อให้เกิดความล่าช้าในทุกๆ ด้าน กอร์บาชอฟพยายามแก้ไขสถานการณ์ โดยการประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศด้วยการให้อสรภาพทางการเมืองแก่ประชาชนมากขึ้น นโยบายนี้มีชื่อเรียกว่า "กลาสโนสท์" (เปิดกว้าง) และ "เปเรสทรอยก้า" (ปฏิรูป) แต่นโยบายนี้ก็สายเกินแก้ โดยเฉพาะการตกต่ำของเศรษฐกิจที่ทรุดหนักทับถมมานาน การให้เสรีภาพแก่ประชาชนทำให้เกิดการแสดงออกมากขึ้น เกิดการเดินขบวนและนัดหยุดงานกันขึ้น อาณานิคมต่างๆ พอได้รับเสรีภาพก็เกิดการเรียกร้องเอกราช ต้องการแยกตัวไปปกครองตนเองมากขึ้น ฝ่ายต่อต้านนโยบายปฏิรูปของกอร์บาชอฟก็มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพวกอนุรักษ์นิยมที่ต้องการให้สหภาพโซเวียตกลับคืนไปสู่การปกครองแบบหลังม่านเหล็กอย่างเดิม กอร์บาชอฟถูกกล่าวหาว่า เขาพยายามหาเสียงกับประชาชน แต่เขากล่าวไว้ในหนังสือที่เขาเขียนอธิบายนโยบายใหม่เปเรสทรอยก้าว่า "ไม่มีข้อเสนอแนะหรือคำเตือนใดๆ ที่มีค่ามากไปกว่าที่คุณได้จากประชาชนโดยตรง" พวกนี้เองได้พยายามก่อการรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1991 แต่ไม่สำเร็จเพราะ นายบอริส เยลซิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐรัสเซียซึ่งเป็นสาธารณรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียตออกมาต่อต้าน
แม้ว่าการรัฐประหารครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นการตัดฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดเหนี่ยวสหภาพโซเวียตเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อกอร์บาชอฟซึ่งได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาสหภาพโซเวียตไว้ได้ประกาศลาออก สหภาพโซเวียตและระบบสังคมนิยมจึงได้ล่มสลายลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1991 จึงนับว่ากอร์บาชอฟเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
นโยบายเปิดกว้างและปฏิรูปของเขา ไม่เพียงแต่ทำให้โซเวียตล่มสลายลงเท่านั้น ยังส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังคอมมิวนิสต์ทั่วโลกด้วย แต่คุณูปการอันใหญ่หลวงที่กอร์บาชอฟได้ฝากไว้กับโลกนั่นก็คือ การยุติสงครามเย็น และการช่วยรวมชาติเยอรมัน ทำให้โลกมีสันติอีกครั้ง
มิกคาอิล กอร์บาชอฟ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี ค.ศ.1990