นโปเลียน โบนาปาร์ต บุกรัสเซียสมัย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1
"ความตายไม่มีความหมายอะไร แต่การอยู่โดยพ่ายแพ้และเสียเกียรติ มันเหมือนกับตายไปวันละน้อย"
วาทะนี้เป็นของนโปเลียน โบนาปาร์ต (สำเนียงอิตาลี อ่านว่า นโปเลออง บูโอนาปาร์ต) อัจฉริยะทางทหาร ซึ่งกลายเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศส ที่เขียนบันทึกไว้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
นโปเลียน เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ.1769 ในเมืองอาจัคซิโอ บนเกาะคอร์ซิกา เป็นบุตรคนที่ 2 ของคาร์โล บูโอนาปาร์ต ทนายความเชื้อสายอิตาเลียน
เมื่ออายุได้ 9 ปี นโปเลียนเดินทางออกจากเกาะคอร์ซิกา มาศึกษาต่อวิชาการทหารที่ฝรั่งเศส โดยได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ขณะที่เป็นนักศึกษาวิชาทหาร นโปเลียนเป็นชายร่างเล็ก (เขาสูงราว 5 ฟุต 2 นิ้ว) เงียบขรึม มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง สนใจการอ่านหนังสือ และมีความจำที่ดีเลิศ เขาจบการศึกษาเมื่ออายุเพียง 16 ปี และได้รับยศร้อยตรีในกองทหารปืนใหญ่ เมื่อเรียนสำเร็จมาใหม่ๆ เขาได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะต่อสู้เพื่อแยกเกาะคอร์ซิกาบ้านเกิดของเขาออกเป็นอิสระจากฝรั่งเศสหลายครั้ง แต่ทำการไม่สำเร็จ
หลังจากเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 เขาได้นำทัพเข้าสู่สงคราม และได้แสดงผลงานเด่นๆ หลายครั้ง เขาได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาติ และได้รับการเลื่อนยศเป็นนายพลด้วยวัยเพียง 27 ปี เขาได้รับการเชื้อเชิญให้ไปในงานสังคมชั้นสูง ในกรุงปารีส และในงานแห่งหนึ่งเขาได้มีโอกาสพบกับหญิงม่ายนามว่า โจเซฟีน เดอ โบฮาร์เนส์ ซึ่งแก่กว่าเขา 6 ปี และมีลูกติด 2 คน เขาตกหลุมรักเธอ และขอเธอแต่งงานในเวลาต่อมา
สองวันหลังจากการแต่งงาน เขาได้รับคำสั่งให้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสไปสู้รบในอิตาลี ระหว่างการเดินทัพ นโปเลียนเริ่มตระหนักว่าหนทางแห่งความยิ่งใหญ่ของเขาจะไปทางใด เขาเลิกล้มความคิดที่จะแยกเกาะคอร์ซิกาให้เป็นอิสระไปนานแล้ว ประเทศฝรั่งเศสต่างหากคือจุดมุ่งหมายของเขา ซึ่งการรบภายใต้การบัญชาของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เขาเป็นที่รักและยกย่องของทหารเป็นอย่างมาก
ต่อมานโปเลียนเริ่มรู้สึกว่าประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยมในรัฐบาลของคณะปฏิวัติขึ้นทุกที เขาจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องตีตัวออกห่างด้วยวิธีการแสวงหาสนามรบแห่งใหม่ เขาจึงเคลื่อนทัพมุ่งตรงไปยังอียิปต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเป็นทางผ่านของเสบียงอาหารและวัตถุดิบไปอังกฤษ นโปเลียนได้รับชัยชนะโดยเสียไพร่พลไปเพียง 30 คน เขาเดินทางกลับฝรั่งเศสในขณะที่กรุงปารีสเริ่มปั่นป่วนอย่างหนัก นโปเลียนจึงประกาศล้มรัฐบาลของคณะปฏิวัติ และตั้งรัฐบาลใหม่เรียกว่า "กงสุลาต์" ขึ้นโดยอำนาจปกครองทั้งหมดตกอยู่กับเขาซึ่งดำรงตำแหน่งกงสุลที่หนึ่งเพียงผู้เดียว ในขณะนั้นนโปเลียนมีอายุเพียง 34 ปี
นโปเลียนจัดการปรับปรุงกฎระเบียบทางด้านภาษีและทางด้านการศาล รวมทั้งประมวลกฎหมายต่างๆ ของฝรั่งเศสให้เป็นระเบียบ โดยการออกประกาศให้ประมวลกฎหมายแพ่งที่เรียกว่า Code Napoleon ขึ้น (ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานกฎหมายของประเทศตะวันตกในเวลาต่อมา) ประชาชนชาวฝรั่งเศสในขณะนั้นต่างมอบความนิยมชมชอบ และความจงรักภักดีให้แก่นโปเลียนแต่เพียงผู้เดียว นโปเลียนเองก็ตระหนักในความสำคัญของเขา และเมื่อเขามั่นใจว่าโชคชะตาของฝรั่งเศสอยู่ในกำมือของเขาแล้ว เขาจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยใช้นามาภิไธยว่า นโปเลียนที่ 1 จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1804 ณ มหาวิหารนอตเตรอดาม กรุงปารีส และสถาปนาภรรยาโจเซฟีน เป็น พระราชินีโจเซฟีน
จักรพรรดินโปเลียนปรารถนาที่จะมีพระโอรสยิ่งนัก แต่พระนางโจเซฟีนก็ไม่สามารถมีพระโอรสให้พระองค์ได้ ประกอบกับต่อมานโปเลียนจับได้ว่านางไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ จึงทรงหย่าขาดจากพระนาง พอดีกับที่นโปเลียนมีชัยต่อออสเตรีย พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งออสเตรียจึงต้องทรงยอมยกพระราชธิดา มารี หลุยส์ ให้อภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียน และนางก็ได้ให้กำเนิดพระโอรสแก่นโปเลียนองค์หนึ่ง ซึ่งก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ราชาแห่งโรม" ในทันที (ภายหลังเมื่อจักรวรรดิของนโปเลียนล่มสลายลง พระนางมาร ีหลุยส์และพระโอรสก็เสด็จกลับคืนออสเตรีย ราชาแห่งโรม หรือ ดยุคแห่งไรชตัดต์สิ้นพระชนม์ลงด้วยวัณโรค เมื่อมีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา)
ฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เข้าสู่สภาพที่ระอุไปด้วยไอของสงครามตลอดเวลา ในขณะนั้นศัตรูสำคัญของฝรั่งเศสก็คืออังกฤษ ในระหว่างปี ค.ศ.1803-1804 นโปเลียนใฝ่ฝันที่จะยกพลขึ้นเกาะอังกฤษ ถึงกับเรียกประชุมทัพที่ฝั่งทะเลช่องแคบอังกฤษด้านฝรั่งเศส แต่เผอิญไปเกิดศึกกับออสเตรียและรัสเซียเสียก่อน นโปเลียนจึงระงับแผนการนี้ไว้ก่อน
ในขณะที่นโปเลียนติดพันการรบอยู่กับออสเตรียและรัสเซียอยู่นั้น กองทัพเรือของฝรั่งเศสก็ปะทะเข้ากับกองทัพเรือของอังกฤษ ภายใต้การนำของลอร์ดเนลสัน ซึ่งเป็นนายพลเรือที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ ที่แหลมทราฟัลการ์ ทางใต้ของสเปน ซึ่งเป็นการรบทางเรือที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ การบุกอังกฤษของนโปเลียนจึงล้มเลิกไป
จักรพรรดินโปเลียนแผ่พระราชอำนาจไปทั่วทวีปยุโรป ในขณะที่กองทัพของพระองค์ก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากบรรดาไพร่พลร่วมรบที่ถูกเกณฑ์มาจากหลายเชื้อชาติไม่เข้มแข็งเหมือนก่อน เพราะล้วนถูกเกณฑ์มารบด้วยความจำใจ ประกอบกับการตัดสินใจผิดพลาดในการตัดโอกาสศัตรูเก่าคืออังกฤษไม่ให้ติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยสินค้าของอังกฤษ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่พอใจไปทั่ว โดยเฉพาะเมื่อนโปเลียนสั่งกักขังสมเด็จพระสันตะปาปาไพอัสที่ 7 ซึ่งทรงคัดค้านระบบ "กักด่านยุโรป" ของเขา และยังส่งกองทัพเข้าไปยึดรัฐวาติกัน นับว่าสร้างความไม่พอใจให้แก่ศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
ระบบการกักด่านยุโรปของนโปเลียนทำให้รัสเซียไม่พอใจหันมาเป็นศัตรูกับฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1812 นโปเลียนจึงยกกองทัพบุกรัสเซีย แม่ทัพใหญ่ของรัสเซีย คือ นายพลคูตูซอฟ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ปะทะกับฝรั่งเศสโดยตรง กลับใช้วิธีซุ่มโจมตีแบบกองโจร กองทัพฝรั่งเศสจึงถลำลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย และในวันที่ 7 กันยายน ปี ค.ศ. 1812 กองทัพฝรั่งเศสกับกองทัพรัสเซียจึงปะทะกันที่เมืองโบโรดิโน ไม่ไกลจากกรุงมอสโคว์นัก ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่นโปเลียนก็สามารถนำทัพเข้าล้อมกรุงมอสโคว์ได้ แต่ไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ ล้อมอยู่ 5 สัปดาห์ นโปเลียนก็ต้องถอยทัพกลับเพราะขาดเสบียงอาหาร และพ่ายแพ้กับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บที่แสนทารุณของรัสเซีย ซ้ำต้องรับมือกับการดักซุ่มโจมตีตัดกำลังเป็นระยะจากนายพลคูตูซอฟ นโปเลียนได้สูญเสียทหารไปเกือบ 500,000 คน
ข่าวการปราชัยของนโปเลียนได้แพร่หลายไปทั่ว ทำให้ประเทศที่ถูกนโปเลียนบังคับไว้ใต้อำนาจ ก็พากันฉวยโอกาสจับอาวุธขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสพร้อมกัน แม้นโปเลียนจะรวบรวมกำลังทหารขึ้นมาได้ใหม่แต่ก็ไม่เกรียงไกรเหมือนเก่า
ในปี ค.ศ.1814 กองทัพพันธมิตรประกอบด้วย รัสเซีย ปรัสเซีย ออสเตรีย และอังกฤษ ได้เคลื่อนทัพเข้าสู่ฝรั่งเศสตรงเข้าล้อมกรุงปารีสไว้ นโปเลียนต้องยอมจำนน ทรงสละความเป็นจักรพรรดิแล้วหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ที่เกาะเอลบาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นโปเลียนอาศัยอยู่ที่เกาะเอลบาเป็นเวลา 10 เดือน ก่อนที่จะวางแผนลอบเสด็จกลับเข้ามายังฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1815 เมื่อได้ข่าวว่าประชาชนฝรั่งเศสไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์พระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 18
การกลับมาของนโปเลียนสร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ แต่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปซึ่งกำลังจัดการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา เพื่อตกลงแบ่งดินแดนที่เคยตกอยู่ใต้อำนาจนโปเลียนกันอยู่ ต่างก็ร่วมมือกันเพื่อปราบนโปเลียนให้ได้ ฝ่ายนโปเลียนก็รวบรวมกำลังทหารได้ 150,000 คน ยกทัพเข้าไปในเบลเยี่ยมเพื่อตั้งรับ
กองทัพฝรั่งเศสประจัญหน้ากับกองทัพปรัสเซียเป็นทัพแรก ฝรั่งเศสมีชัยในการรบ นโปเลียนจึงมอบทหารจำนวน 30,000 คน ให้แม่ทัพรองคอยคุมกองทัพปรัสเซียไว้ ส่วนพระองค์เองนำกองทัพที่เหลือไปรบกับทองทัพนานาชาติภายใต้การนำของ ดยุคแห่งเวลลิงตัน ของอังกฤษที่วอเตอร์ลู ซึ่งมีกำลังทหารถึง 90,000 คน ในขณะที่นโปเลียนมีทหารอยู่เพียง 60,000 คนเท่านั้น
ช่วงสุดท้ายของการรบ นโปเลียนสูญเสียทหารไปในการรบมากมาย ในขณะที่ฝ่ายอังกฤษมีกำลังทัพหนุนมาช่วยอีกถึง 30,000 คน ประกอบกับแม่ทัพรองที่นโปเลียนสั่งให้คอยคุมกองทัพปรัสเซียไว้กลับทรยศ ปล่อยให้กองทัพปรัสเซียรุกเข้ามาตีกองทัพของพระองค์ซ้ำเข้าอีก การรบที่วอเตอร์ลูจึงยุติลงด้วยความปราชัยของนโปเลียน
นโปเลียนเสด็จกลับมายังปารีส ทรงสละราชสมบัติเป็นครั้งที่ 2 ตัดสินใจลงเรือเพื่อจะไปอเมริกา แต่ไม่สำเร็จเพราะกองทัพเรืออังกฤษคอยจุกช่องทางไม่ให้เล็ดลอดไปได้ นโปเลียนจึงทรงส่งสาสน์ไปขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษศัตรูเก่าของพระองค์ ในชั้นต้นรัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับ แต่เมื่อนโปเลียนเสด็จมาถึงท่าเรือเมืองพลีมัธ กองทัพเรืออังกฤษก็ควบคุมพระองค์ไว้บนเกาะเซนต์ เฮเลนา เกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 75 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวทางภาคใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ตามมติของที่ประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา จักรพรรดินโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่จึงใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของพระองค์บนเกาะอันกันดารและห่างไลกผู้คนแห่งนี้
สุขภาพของจักรพรรดินโปเลียนทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1821 ขณะมีพระชนมายุได้ 52 พรรษา พระศพของพระองค์ถูกฝังอยู่บนเกาะแห่งนั้น จนอีก 20 ปีต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสจึงอัญเชิญพระบรมศพกลับมายังปารีส และฝังไว้ ณ สุสานแองวาลิด จนถึงปัจจุบัน