| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : เขี้ยว เล็บ รัสเซีย
Vitaly Ginzburg นักฟิสิกส์โนเบลผู้ประสบความสำเร็จภายใต้ความกดดันทางการเมือง | เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2009 ที่ผ่านมา V. Ginzburg นักฟิสิกส์ทฤษฎีชั้นนำของโลกได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคโลหิตติดเชื้อที่กรุง Moscow ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ Ginzburg มีผลงานที่สำคัญหลายแขนง เช่น ทฤษฎีของสสารที่มีอุณหภูมิต่ำมาก การเคลื่อนที่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในพลาสมา ดาราศาสตร์วิทยุ ฯลฯ และความสำเร็จนี้ได้ทำให้เขาพิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2003 ร่วมกับ Alexei Abrikosov และ Anthony Leggett โดยเฉพาะจากผลงานการสร้างทฤษฎีของตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) และของเหลวยวดยิ่ง (superfluid)
Ginzburg เกิดที่กรุง Moscow ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1916 ในครอบครัวเชื้อชาติยิว ยุโรปขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัสเซียเองกำลังจะมีการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ การตกอยู่ในภาวะสงครามทำให้ชาวรัสเซียดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก และโรคระบาด (ไข้ไทฟอยด์) ได้คร่าชีวิตของมารดา Ginzburg ไปตั้งแต่เขาอายุได้ 4 ขวบ นอกจากนี้ ความวุ่นวายภายในประเทศยังทำให้ Ginzburg ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ จนอายุย่างเข้า 11 ปี จึงเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียน เมื่ออายุ 15 ปี ศาสตราจารย์ Evgeni Bakhmetev แห่งมหาวิทยาลัย Moscow Technical ได้ช่วยหางานให้ Ginzburg ทำในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการเอ็กซ์เรย์ที่มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะกฎการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกำหนดว่าก่อนจะเป็นนิสิต ทุกคนต้องทำงานก่อน ประสบการณ์ทำงานได้ทำให้ Ginzburg รู้สึกสนใจฟิสิกส์มาก จึงสมัครเข้าเรียนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Moscow State เมื่ออายุได้ 17 ปี และตั้งใจว่าจะเรียนฟิสิกส์ทฤษฎี แต่รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถด้านคณิตศาสตร์ จึงตัดสินใจว่าจะเชี่ยวชาญด้านทัศนศาสตร์ โดยมี Grigory Landsberg เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Ginzburg ได้เรียนต่อทางฟิสิกส์ทฤษฎี โดยได้ทำงานวิทยานิพนธ์ เรื่อง ทฤษฎีควอนตัมของปรากฏการณ์การแผ่รังสี Cerenkov (ซึ่งเป็นรังสีที่เกิดจากอนุภาคที่มีประจุขณะมีความเร็วมากกว่าความเร็วแสงในตัวกลาง แต่ก็ยังมีความเร็วน้อยกว่าความเร็วแสงในสุญญากาศ) Ginzburg สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต เมื่ออายุ 26 ปี และได้งานทำที่ Lebedev Physical Institute ใน Moscow เขาสังกัดที่สถาบันนี้จนวาระสุดท้ายของชีวิต
Ginzburg สนใจฟิสิกส์หลายสาขา เช่น ทฤษฎีควอนตัม การแผ่รังสี Cerenkov การแผ่รังสี synchrotron (ซึ่งเป็นรังสีที่ประจุปล่อยออกมาเวลาประจุมีความเร่ง) รังสีคอสมิก รังสีแกมมา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ การกระเจิงแสงโดยผลึก ฯลฯ แต่ผลงานที่สำคัญที่สุด คือ งานวิจัยที่ทำกับ Lev Landau (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1962) ในการสร้างทฤษฎีสภาพนำยวดยิ่งเมื่อปี 1950 ซึ่งใช้แนวคิดว่าในตัวนำยวดยิ่ง อิเล็กตรอน 2 ตัวจะมีฟังก์ชันคลื่นที่เรียกว่า order parameter แต่ในตัวนำปรกติ อิเล็กตรอนไม่มีฟังก์ชันคลื่น และเมื่อ Ginzburg เขียนพลังงานอิสระของตัวนำยวดยิ่งในรูปอนุกรมของ order parameter ทฤษฎี Ginzburg-Landau ก็อธิบายสมบัติกายภาพของตัวนำยวดยิ่งต่างๆ ที่พบในยุคนั้นได้ดีพอสมควร ในเวลาต่อมาสมมติฐานเรื่อง order parameter ก็ได้รับพิสูจน์ว่ามีจริงโดย L.P. Gorkov ผู้ใช้ทฤษฎีของ Bardeen-Cooper-Schrieffer แสดงให้เห็นว่า order parameter คือ ฟังก์ชันคลื่นของคู่อิเล็กตรอน (Cooper pair)
ในปี 1937 ขณะ Ginzburg อยู่ในวัย 21 ปี เขาได้เข้าพิธีสมรสกับ Olga Zamska แต่ได้หย่ากันในอีก 9 ปีต่อมา และเข้าสมรสครั้งที่ 2 กับ Nina Ermakova สตรีหัวรุนแรงผู้เคยถูกจับในฐานะสมคบคิดฆ่า Stalin การถูกกล่าวหาเช่นนี้ เธอจึงมีสถานภาพเป็นศัตรูของชาติ และถูกจำคุก 3 ปี และถูกปล่อยเมื่อได้รับอภัยโทษในปี 1945 แต่ก็ถูกทางการสั่งห้ามมิให้เดินทางเข้ากรุง Moscow และ Gorky เพื่อพบสามี เมื่ออายุ 29 ปี Ginzburg ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ด้าน radiophysics แห่งมหาวิทยาลัย Gorky (ปัจจุบันคือเมือง Nizhniy Novgorod) และมุ่งวิจัยเรื่องวิธีส่งคลื่นวิทยุในบรรยากาศโลก โดยได้เน้นการศึกษาอิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลกต่อการสะท้อนคลื่นวิทยุกับการดูดกลืนคลื่น และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าด้านดาราศาสตร์วิทยุของ Ginzburg ในปี 1946 Ginzburg ได้พบว่า corona ของดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิสูงถึงล้านองศาเวลาปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น 1 เมตร ออกมาด้วย
จากนั้น Ginzburg ได้เดินทางไปทำงานที่ Moscow เป็นเวลานาน 7 ปี และได้ขอให้ภรรยาเดินทางไปอยู่ด้วย แต่ถูกทางการปฏิเสธ
ในปี 1947 Ginzburg ถูกวงการวิชาการของรัสเซียโจมตีว่าชอบอ้างอิงผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ และไม่ชอบอ้างถึงผลงานของคนชาติเดียวกัน อีกทั้งเป็นพวกวัตถุนิยมจึงเป็นทรยศต่อชาติ เพราะไม่ภูมิใจในความเป็นรัสเซีย เป็นคนไร้ศาสนา และถูกมองเป็นแกะดำ แต่ Igor Tamm (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1958) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเชิญให้ Ginzburg เข้าร่วมในโครงการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ของรัสเซีย การทำงานสร้างระเบิดปรมาณู และไฮโดรเจนแข่งกับอเมริกา ร่วมกับนักฟิสิกส์ชั้นนำของรัสเซียคนอื่นๆ เช่น Igor Kurchatov, Yarov Zeldovich, Andrei Sakharov, Igor Tamm และ Lev Landau ทำให้ Ginzburg คือบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชาติ
ในขณะที่นักฟิสิกส์อเมริกาสร้างระเบิดไฮโดรเจนจากปฏิกิริยา 21H + 31H -> 42He + 10n +17.6 Mev เพราะไอโซโทป tritium (31H) เป็นสารกัมมันตรังสีที่ไม่มีในธรรมชาติ Ginzburg จึงได้เสนอแนะให้ใช้ปฏิกิริยา 63Li + 10n -> 31H + 42He + 4.6 Mev แทน
และนี่คือ ความแตกต่างระหว่างระเบิดไฮโดรเจนของอเมริกา กับของรัสเซีย และความคิดนี้ทำให้ Ginzburg ได้รับรางวัล Order of Lenin กับรางวัล Stalin ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลรัสเซียจะมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ของตน
หลังจากที่ Stalin เสียชีวิตในปี 1953 Ginzburg ได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกของ Soviet Academy of Sciences อย่างสมบูรณ์เมื่ออายุ 50 ปี แต่ก็ยังเป็นบุคคลที่ยังเป็นภัยต่อรัฐ เพราะภรรยาเป็นคนอยู่ในความเพ่งเล็งของตำรวจลับ และเมื่อ Ginzburg ถูกห้ามอ่าน และรับรู้ข่าวคราวด้านนิวเคลียร์ เขาจึงเปลี่ยนความสนใจไปศึกษาด้านทฤษฎีของสภาพนำยวดยิ่งจนประสบความสำเร็จ ในการสร้างทฤษฎี Ginzburg-Landau ในที่สุด
ในบทบาทของความเป็นครูนั้น Ginzburg เป็นคนใจกว้างในการรับฟังความคิดดีๆ จากศิษย์ และเพื่อนร่วมงาน เพราะเขามีพื้นฐานที่แน่น จึงสามารถให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ ได้มาก เช่นเวลามีการสัมมนาที่สถาบัน Lebedev Ginzburg จะสามารถให้คำแนะนำดีๆ แก่คนที่พูดสัมมนา ซึ่งมักครอบคลุมฟิสิกส์ทุกสาขา และเวลาผู้บรรยายสับสน Ginzburg ก็จะสรุปประเด็นที่พูดให้ทุกคนรู้ว่า ผู้พูดกำลังพูดเรื่องอะไร เพื่อให้ทุกคนที่ฟังสามารถเข้าใจ และตามเรื่องได้ทัน ดังนั้นในยุคนั้น นักฟิสิกส์รัสเซียทุกคน จึงมุ่งหวังที่จะได้เข้าฟังสัมมนาที่ Lebedev Institute ที่มี Ginzburg เป็นผู้กำกับ
ชีวิตของ Ginzburg มีหลายรสชาติ และต้องทำงานภายใต้ความกดดันตลอดเวลา เช่นต้องทำงานในขณะที่เกิดสงครามโลก 2 ครั้ง ขณะมีการปฏิวัติระบบคอมมิวนิสต์ที่มี Stalin และ Lenin เป็นผู้นำ ในช่วงเวลาการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการจองจำนักโทษการเมือง ซึ่ง Ginzburg เองได้ประกาศต่อต้านการลงโทษลักษณะนี้มาก เพราะเคยได้เขียนจดหมายถึง Vladimir Putin ให้ปลดปล่อยคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของชาติ สำหรับในส่วนของศาสนานั้น Ginzburg ไม่นับถือศาสนาใดๆ และเคยต่อต้านคริสต์ศาสนานิกาย Orthodox ไม่ให้เข้ามาข้องเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาของชาติ จึงถูกสถาบันศาสนาขับไล่ออกนอกประเทศ และในบั้นปลายของชีวิต Ginzburg ได้มีบทบาทมากในการต่อต้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมรัสเซีย
สำหรับผลงานเขียนที่สำคัญได้แก่เรื่อง What Problems of Physics and Astrophysics Seem Now to be Especially Important and Interesting? ใน Soviet Physics Uspekhi Vol. 14 หน้า 21 ปี 1971 ซึ่งกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญทางฟิสิกส์ 17 ปัญหา น่าเสียดายที่ Ginzburg ได้จากไปก่อนจะได้สรุปว่าในปี 2010 มีปัญหาที่ยิ่งใหญ่อะไรอีกบ้างที่น่าสนใจและสำคัญ
คุณหาอ่านชีวประวัติของ Ginzburg ได้จากหนังสือ About Science, Myself and Others โดย V.L. Ginzburg ที่จัดพิมพ์โดย Institute of Physics / Taylor and Francis ปี 2004 หนา 349 หน้า ราคา 99.95 ดอลลาร์
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. |
|