"การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมเท่านั้น อาจจะเกิดในสังคมใดก็ได้ หากว่าสังคมนั้นมีบรรยากาศของความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชนชั้น"
วาทะข้างต้นนั้น คือวาทะของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 นิโคไล เลนิน นักการเมืองและนักปฏิวัติ ผู้พลิกโฉมรัสเซียสู่จักรวรรดิสังคมนิยมประเทศแรกของโลก และเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจของนักปฏิวัติรุ่นต่อๆ มา
เลนิน มีชื่อจริงว่า วลาดิเมียร์ อุลยานอฟสค์ (Vladimir Ulyanovsk) ชื่อเลนินนั้นเป็นนามแฝงที่เขาใช้ในการทำงานกับขบวนการปฏิวัติใต้ดินของพวกมาร์กซ์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1870 ที่เมืองซิมเบิสกา ริมฝั่งแม่น้ำโวลก้า (ปัจุบันคือเมืองอุลยานอฟสค์) เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวน 6 คน (ซึ่งทุกคนล้วนเป็นนักปฏิวัติทั้งสิ้น) ของบิดาซึ่งเป็นครู และมารดาซึ่งเป็นลูกสาวของแพทย์ผู้มีชื่อเสียงของรัสเซีย
บิดามารดาและครอบครัวของเลนินนั้น ไม่ได้มีความโน้มเอียงไปในทางปฏิวัติ ลูกทุกคนได้รับการศึกษาอย่างดี แต่เมืองที่เขาเกิดนั้นเป็นศูนย์กลางของนักคิดปฏิวัติ และเป็นถิ่นของพวกมิจฉาชีพ มักจะมีการปล้นสะดมและต่อสู้กันเสมอ
ในปี ค.ศ.1886 เมื่อเลนินมีอายุได้ 16 ปี กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีสุดท้าย ก็เกิดเรื่องนักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งโดนจับ ในข้อหาลอบปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอทั้งลุ่ม ซึ่งรวมทั้งอเล็กซานเดอร์ พี่ชายคนโตของเลนิน จุดนี้เองอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เลนินคิดปฏิวัติก็ได้ เพราะอีกใน 7 เดือนต่อมา เลนินหรือวลาดิเมียร์ อุลยานอฟสค์ในขณะนั้น ก็ถูกจับกุมเป็นครั้งแรก ฐานเข้าร่วมเดินขบวนของนักศึกษา
เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยกาซาน เลนินก็ได้ทำงานเป็นครูอยู่ระยะหนึ่ง จึงสอบเข้าโรงเรียนกฎหมายและได้รับปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาสอบได้เนติบัณฑิต และออกมาทำงานเป็นทนายความได้ 3 ปี ก็ถูกจับส่งไปไซบีเรียฐานพยายามชักชวนผู้คนให้ก่อความไม่สงบเป็นเวลา 6 ปี
พอพ้นโทษจากไซบีเรีย เลนิน อายุได้ 30 ปีพอดี เขาได้เดินทางไปเยอรมัน และจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ Iskra ซึ่งเต็มไปด้วยข้อความที่ชักชวนให้ก่อการปฏิวัติล้มล้างระบบกษัตริย์ในรัสเซีย จนได้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ คือ พรรคบอลเชวิค จนถูกเนรเทศออกจากเยอรมันอีก
ในปี ค.ศ.1914 ขณะที่เลนินอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบกษัตริย์ในรัสเซียได้เป็นสำเร็จ โดยการนำของ เกเรนสกี เพื่อนนักเรียนที่เคยเรียนชั้นมัธยมด้วยกันที่ซิมเบิร์กสเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว เกเรนสกีได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย
พอการปฏิวัติล้มล้างพระเจ้าซาร์สำเร็จ เลนินซึ่งขณะนั้นอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ก็เดินทางกลับรัสเซีย ไล่เลี่ยกับ ทรอตสกี ผู้นำการปฏิวัติคนสำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในอเมริกา ก็เดินทางกลับรัสเซียเช่นกัน
เมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียอยู่ฝ่ายหนึ่ง เยอรมัน ออสเตรียฮังการี อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง
เลนินต้องการให้รัสเซียปลีกตัวออกจากสงครามเพื่อปรับปรุงการภายในของรัสเซียเอง เลนินจึงรวมกับทรอตสกี ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านของพวกเกเรนสกี โดยทรอตสกีมีพรรคเมนเชวิคหนุนหลังอยู่ ในขณะนั้นประเทศรัสเซียจึงมีพรรคการเมืองใหญ่ๆ 3 พรรค คือ พรรคโซเวียตของเกเรนสกี พรรคบอลเชวิคของเลนิน และพรรคเมนเชวิคของทรอตสกี
ฝ่ายเกเรนสกีซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น มีคณะปฏิวัตคณะใหญ่หนุนหลังอยู่ เขายืนยันจะให้รัสเซียดำเนินการสงครามอยู่ฝ่ายเดียวกับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่การบัญชาการรบของเขาเกิดผิดพลาด ทหารหนีทัพ เกเรนสกีโทษว่าเกิดจากการปลุกปั่นของเลนินและทรอตสกี จึงสั่งจับกุม เลนินหนีรอดไปได้ แต่ก็หลบซ่อนอยู่ในรัสเซียนั่นเอง
เลนินรวบรวมกำลังได้ก็ทำการยึดอำนาจจากฝ่ายเกเรนสกี ซึ่งไม่มีกำลังทหารพอจะสู้รบ และก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เลนินจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และแต่งตั้งให้ทรอตสกีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ยุทธวิธีที่เลนินใช้ปฏิวัติคือ 1. ปลุกระดมประชาชน เพื่อสร้างนักปฏิวัติ 2. ยุยงและจุดชนวนให้เกิดจลาจล 3. จัดตั้งแนวร่วมและกองกำลังในการปฏิวัติ 4. เมื่อรัฐไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ก็เข้ายึดอำนาจทันที
พรรคคอมมิวนิสต์บอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในปี ค.ศ.1921 เลนินดำรงตำแหน่งผู้นำและปกครองโวเวียตจนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคอัมพาต และโลหิตคั่งในสมอง เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1924 ศพของเขาถูกเก็บรักษาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย และประดิษฐานอยู่ที่จัตุรัสแดงจนถึงทุกวันนี้ |