ตุ้กตาแม่ลูกดก วาดปราณีต ปิดทองด้วย สวยงาม ซ้อนกัน 5 ตัว ความสูง 16 เซนติเมตร ความกว้าง 8 เซ็นติเมตร
ตุ๊กตาแม่ลูกดก โดย Daily News Online
ตุ๊กตาแม่ลูกดก มีชื่อในภาษารัสเซียว่า มาตรีโอสคา (อักษรซีริลลิก: матрёшка หรือ матрешка) เป็นตุ๊กตาของรัสเซียที่เรียงซ้อนๆ กันหลายตัว ชื่อนี้แผลงมาจากชื่อสตรีภาษารัสเซีย ว่า "มาตรีโอนา"
ถ้าจะพูดถึงของฝากที่ขึ้นชื่อของประเทศรัสเซียแล้ว หลายคนคงจะคิดถึง มาตรีโอสคา หรือ ตุ๊กตาแม่ลูกดก เป็นแน่
ลักษณะของตุ๊กตาแม่ลูกดกนั้น จะเป็นตุ๊กตาไม้หลายตัว เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อยู่ภายใน ตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดหนึ่ง จะประกอบด้วยตุ๊กตาที่อยู่ภายในกี่ตัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวแม่ที่อยู่ด้านนอกสุดว่าจะบรรจุลูก ๆ ได้กี่ชั้น โดยแต่ละตัวก็จะมีลักษณะที่เป็นโพรงอยู่ตรงกลาง เว้นแต่ตัวที่เล็กสุด และทุกตัวก็จะมีรูปร่างและสีสันเหมือนกันหมด
รูปร่างหน้าตาของตุ๊กตาแม่ลูกดกแบบดั้งเดิมนั้นจะเป็นหญิงชาวนา แต่งกายแบบดั้งเดิม มีผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งต่อมาก็มีการวาดลวดลายแต่งเติมให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งรูปนางฟ้า เทพธิดา และบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย
สำหรับต้นกำเนิดของตุ๊กตาแม่ลูกดกนั้น มีการเล่าต่อ ๆ กันมาเป็นสองทางด้วยกัน ทางหนึ่งว่า พระชาวรัสเซียเป็นบุคคลแรกที่นำวิชาทำตุ๊กตาไม้ไปจากเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น และเมื่อมาถึงรัสเซีย ก็ผสมผสานรูปแบบเข้ากับศิลปะท้องถิ่น เช่น แนวคิดในการซ้อนตุ๊กตาที่คุ้นเคยกันดีในรัสเซีย และประยุกต์เข้ากับงานประดิษฐ์แอปเปิ้ลไม้ รวมถึงไข่อีสเตอร์ จากนั้นจึงตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า มาตรีโอสคา
อีกทางหนึ่งก็ว่า มาตรีโอสคา ได้แรงบันดาลใจมากจากตุ๊กตาที่ระลึกจากเกาะฮอนชูในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเราเทียบ มาตรีโอสคา กับตุ๊กตาไม้ของญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นว่ามีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้ เซียร์เกย์ มัลยูติน ศิลปินคนหนึ่ง ได้ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อป พ.ศ. 2434 และได้มีการถกเถียงและแก้ไขรูปแบบกันอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะได้ข้อยุติว่า ตุ๊กตาแม่ลูกดกนั้น จะมีลักษณะเป็นเด็กหญิงหน้ากลม ตาใส สวมชุดซาราฟัน (ชุดยาวถึงพื้น มีสายรัดทั้งสองข้าง) ผมสวย ที่ศีระษะคลุมผ้าสีสดใส ส่วนลูก ๆ ที่อยู่ด้านในนั้น จะแต่งตัวไม่เหมือนกับแม่ โดยจะใส่โคโซโวรอตคัส (กระโปรงแบบรัสเซีย) และเสื้อเชิต ปอดดิออฟคัส (เสื้อคลุมยาวถึงเอวของผู้ชาย) และผ้ากันเปื้อน
ในขั้นตอนของการทำนั้น จะเริ่มตั้งแต่การเลือกไม้เนื้อนิ่มที่มีคุณภาพ มาลอกเปลือกออกจนหมด ป้องกันไม่ให้ไม้แตกเวลาที่แห้ง เสร็จแล้วนำไม้เหล่านั้นไปเก็บจนเนื้อไม้แห้งพอดี
เมื่อจะนำไม้มาขึ้นงาน ก็จะต้องเลือกเวลาให้เหมาะสม โดยสภาพอากาศต้องไม่ชื้นหรือแห้งจนเกินไป ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น และจะมีการตัดไม้ตามขั้นตอนต่าง ๆ มากถึง 15 ขั้นตอน
การผลิตนั้น จะเริ่มตั้งแต่ตัวที่อยู่เล็กสุด ที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งต้องใช้ความละเอียดสูง หลังจากนั้นก็จะทำตุ๊กตาตัวรองซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย พอให้ใส่น้องคนสุดท้องได้ โดยวิธีการตัดไม้ออกเป็นสองท่อน หลังจากนั้นก็จะแกะสลักท่อนล่างก่อน โดยขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออก จากนั้นลองใส่ตุ๊กตาน้องคนสุดท้องลงไป ถ้าไม่ได้ก็ต้องค่อย ๆ ขุดเนื้อไม้ออกทีละนิด จนกว่าจะพอดี โดยตุ๊กตาที่ใส่ด้านในนั้น จะมีจำนวนกี่ตัวก็ได้
เมื่อได้ตุ๊กตาแม่ลูกดกทั้งหมดแล้ว ก็นำกาวมาปิดส่วนที่มีร่องรอยบนผิวหน้าให้เรียบ ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นนำไปขัดผิวให้เรียบเสมอกัน วาดรูปร่างหน้าตา รวมถึงการลงสีสัน จากนั้นเคลือบเงาเพื่อเพิ่มความสวยงามอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ที่สำคัญการใส่ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ ซ้อนกันลงไปหลาย ๆ ตัวนั้น คนรัสเซียถือว่าเป็นเครื่องหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และความมีชีวิตที่ยืนยาว จึงนับเป็นของฝากที่เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือนรัสเซียส่วนใหญ่นิยมซื้อกลับมาเป็นของฝาก...
|