| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : อวกาศกับรัสเซีย
ดาวเทียมสปุตนิก 1 | ดาวเทียมสปุตนิก 1 ผู้บุกเบิกการแข่งขันทางเทคโนโลยีอวกาศ
หากย้อนไปประมาณ 47 ปีหรือ 4 ตุลาคม คศ.1957 หรือ พ.ศ. 2500 ที่ศูนย์อวกาศไบร์โคนูร์ คอสโมโดรม ประเทศคาซัคสถาน สถานที่ปล่อยจรวด A -1 ที่เป็นจรวดขีปนาวุธ ของอดีตสหภาพโซเวียต ประชานชนชาวรัสเซียในยุคนั้น ต่างออกมาโห่ร้องแสดงความดีใจไปทั่วทุกท้องถนน เมื่อ "นักเดินทางตัวน้อย" หรือสปุตนิก 1 สามารถทะยานขึ้นสู่อวกาศไปสำเร็จ และโคจรอยู่รอบโลกโดยส่งสัญญาณ "ปี๊ปๆ" กลับมายังสถานีรับสัญญาณบนพื้นโลกได้ นั้นคือการจารึกประวัติศาสตร์ของวงการอวกาศโลกที่ไม่มีวันลืม
ดาวเทียมสปุตนิก 1 เป็นดาวเทียมรูปร่างกลม มีน้ำหนักประมาณ 83 กิโลกรัม มีเสารับ-ส่งสัญญาณอยู่ 2 เสา ทำหน้าที่สำรวจพื้นผิวของโลกและชั้นบรรยากาศ ปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ โดยโคจรอยู่ห่างจากพื้นผิวโลกประมาณ 250 กิโลเมตร และเผาไหม้กลับมายังโลกเมื่อ วันที่ 3 มกราคม ปี ค.ศ. 1958 การโคจรอยู่รอบโลกของสปุตนิกเป็นความภูมิใจของชาวรัสเซีย ในขณะที่สหรัฐอเมริกาผู้ที่มีเทคโนโลยีด้อยกว่ายังไม่สามารถสร้างจรวด บรรทุกดาวเทียมขึ้นไปสู่อวกาศได้เลย และต้องอกสั่นขวัญแขวนเมื่อเห็น สปุตนิกโคจรผ่านท้องฟ้า เพราะกลัวว่าดาวเทียมจะบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ มาถล่มสหรัฐอเมริกา
เหมือนการตบหน้าสหรัฐอเมริกา ฉาดใหญ่ของรัสเซีย ที่ส่งสปุตนิกมาโคจรเหนือ ทวีปอเมริกาเหนือถึง 7 รอบ หลังจากที่ สปุตนิก 1 ออกแสดงผลงานสู่สายตาชาวโลก ได้เพียงเดือนเดียว "สปุตนิก 2" ก็ตามมาติดๆ พร้อมกับ สุนัขเพศเมีย "ไลก้า" สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ออกสู่อวกาศ จากนั้นในเดือน ธ.ค. ปี พ.ศ.2500 สหรัฐก็พยายามส่งดาวเทียม ทดสอบขึ้นฟ้าบ้าง แต่ระเบิดเสียก่อน แล้วก็มาประสบความสำเร็จ ที่สามารถปล่อยดาวเทียมดวงแรก ของประเทศออกนอกโลกได้ในเดือน ก.พ.ปี พ.ศ. 2501 กับ ดาวเทียม "เอ็กซ์พลอเรอร์ 1"
การส่งสิ่งมีชีวิตไปอวกาศจึงเป็นประเด็นใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น ให้ความสนใจและพัฒนา เพราะเราไม่เคยรู้ว่าอวกาศเป็นอย่างไร สภาพไร้น้ำหนักส่งผลกระทบต่อมนุษย์เพียงใด รัสเซียจึงเริ่มโครงการฝึก "คอสโมนอส" หรือนักบินอวกาศขึ้นโดยคัดเลือกจากนักบินเครื่องบินรบในกองทัพ โดยมีศูนย์การฝึกที่ "สตาร์ ซิตี้" กรุงมอสโคว โปรแกรมการฝึก มีตั้งแต่การทดสอบขีดจำกัดของร่างกายในสภาวะต่าง การทดลองกับร่างกายนักบินอวกาศ การฝึกความอดทนในสภาวะแรงดึงดูดสูง ในที่สุด พันตรียูริ เอ กาการิน ก็สามารถเป็นมนุษย์คนแรกของโลกเดินทางสู่อวกาศ ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2504 ด้วยยานวอสต็อก 1
ต่อมาไม่นาน ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ออกแถลงการณ์ เมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ว่า "เวลานี้เป็นเวลาไม่ธรรมดา และเราเผชิญหน้ากับการท้าทาย ไม่ธรรมดา ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ สภาคองเกรส อนุมัติเงินซึ่งจำเป็นต้องใช้ เพื่อจุดมุ่งหมาย ของประเทศชาติ ข้าพเจ้าเชื่อว่าประเทศนี้ สามารถปฏิบัติถึงจุดหมาย การส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และนำกลับโลก โดยปลอดภัยก่อนสิ้นทศวรรษนี้" เคนเนดี้ได้ขออนุมัติงบประมาณราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ องค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซ่า เพื่อสร้างความฝันของชาวอเมริกันให้เป็นจริงตามที่กล่าวไว้
ทั้งอเมริกาและรัสเซียต่างก็ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเพื่อให้เป็นผู้นำในการแข่งขัน ครั้งนี้ตลอดช่วงสงครามเย็น โดยแต่ละฝ่ายตั้งเป้าที่จะพิชิตดวงจันทร์ให้สำเร็จ โครงการอพอลโลจึงเริ่มต้นเพื่อส่งคนอเมริกันไปดวงจันทร์เป็นโครงการใหญ่โต ยิ่งกว่าโครงการแมนฮัตตัน เพื่อสร้างระเบิดปรมาณูของสหรัฐในปี ค.ศ. 1942 โดยนาซ่าต้องทุ่มเททรัพยากรมหาศาล ทั้งกำลังคน กำลังเงินและทรัพยากร การสร้างจรวดขับดัน และยานอวกาศต้องว่าจ้าง 2,0000 บริษัทผลิตขึ้น และใช้ทรัพยากรบุคคล ประมาณ 400,000 คน งบประมาณเฉพาะโครงการอพอลโล ต้องใช้เงิน 24 พันล้านเหรียญ
แต่ก่อนอพอลโลออกเดินทาง นาซ่า จำเป็นต้องมีโครงการนำร่อง ให้กับโครงการ อพอลโลอีกห้าโครงการ คือ โครงการเมอคิวรี โครงการเจมินี โครงการเรนเจอร์ เซอเวเยอร์ และ ลูนาร์ ออร์บิเต้อร์ ทั้ง 5 โครงการนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อหาชาวอเมริกันไปลงบนดวงจันทร์ จึงเป็นการลงทุนด้วยพลังบุคคล และพลังเงินตรา เป็นจำนวนมหึมา เพื่อเอาชนะคู่แข่งที่กำลังรุดหน้า ไปอย่างน่ากลัว การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสต้อง ทุ่มเทอย่างหนัก
โครงการเมอคิวรี มีนักบินอวกาศสหรัฐ 7 นายเป็นชุดแรกที่จะเดินทางสู่อวกาศ ในวันที่ 5 พ.ค.ปี ค.ศ.1961 สหรัฐก็เร่งส่งยาน ฟรีดอม 7 ที่มี อลัน บี เชปพาร์ด ทดสอบขับยานในแบบครึ่ง วงโคจรโลกเป็นเวลา 15 นาที 28 วินาที โดยจรวดเมอคิวรี เรดสโตน ที่เป็นจรวดขับดันขีปนาวุธ ข้ามทวีปของอเมริกา กว่าสหรัฐฯจะส่งยานที่มีมนุษย์ควบคุมไปลอยเท้งเต้ง ในวงโคจรของโลกได้จริงก็วันที่ 20 ก.พ.ปี ค.ศ.1962 มีจอห์น เอส เกลนน์ จูเนียร์ เป็นผู้ขับยาน เฟรนด์ชิป 7 วนรอบโลก 3 รอบกินเวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง 55 นาที 23 วินาที ด้วยจรวดชุดใหม่เมอคิวรี แอตลาส และนั่นก็คือความสำเร็จก้าวแรกของสหรัฐในการพยายาม นำมนุษย์ขึ้นไปท่องอวกาศภายใต้โครงการเมอร์คิวรี Mercury
กลับมาที่ สปุตนิก1 เมื่อปี 2546 แบบจำลองของสปุตนิก 1 ที่มีชื่อว่า "โมเดล PS - 1" ถูกนำไปเสนอขายบนเว็บไซต์อีเบย์ (e-BAY) ปัจจุบันโมเดลตัวนี้ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน มีการประมาณการไว้ว่า ก่อนที่สปุตนิก 1 จะประสบความสำเร็จนั้น มีแบบจำลองเพื่อทำการทดสอบถึงกว่า 20 แบบ นอกจากนี้ แบบจำลองของสปุตนิก 1 ยังประดับไว้อยู่ตรงโถงทางเข้าของ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในกรุงนิวยอร์ก โดยทางรัสเซียมอบให้เป็นของขวัญ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำเร็จ ทางด้านอวกาศครั้งยิ่งใหญ่ ของมวลมนุษย์โลก
ด้าน สหพันธ์อวกาศนานาชาติ หรือไอเอเอฟ (International Astronautical Federation : IAF) พร้อมด้วย องค์การการบินอวกาศรัสเซีย" (Russian Space Agency) อาริยองสเปซ (Arianespace) และผู้นำทางด้านการบินอวกาศทั่วโลก ประกาศว่า จะร่วมกันจัดพิธีรำลึกถึง ดาวเทียม "สปุกนิก 1" วัตถุอวกาศชิ้นแรกที่มนุษย์ สร้างขึ้นจนสามารถเดินทางออก ไปโคจรรอบโลกได้ โดยจะจัดทำ "ดาวเทียมขนาดเล็ก" จำนวน 50 ดวงปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ฉลองครบรอบปีที่ 50 ของการส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศ
อาริยองสเปซ ผู้รับหน้าที่นำดาวเทียมดวงน้อย ขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวด อาริยอง (Ariane) แบบรอบละดวง ให้ข้อมูลว่า "นาโนแซท" (nanosats) หรือดาวเทียมขนาดจิ๋ว ในระดับนาโน มีน้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัม จะถูกส่งออกไปปฏิบัติการนอกโลก ภายในปี พ.ศ.2550 โดยดาวเทียมแต่ละดวง จะหอบหิ้วอุปกรณ์เพื่อดำเนิน ทดลองวิจัยขนาดย่อมๆ แล้วแต่นักวิจัยของแต่ละ มหาวิทยาลัยจะกำหนด ระหว่างการโคจรนอกโลกเป็นเวลา 2 ปี อาริยองสเปซ แนะนำว่า ดาวเทียมขนาดเล็ก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทะยาน ออกนอกโลก และยังเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ ประเทศ หากนำดาวเทียมขนาดเล็กเหล่านี้มาใช้ร่วมกันในการสำรวจโลก
ส่วน นายฌอง-ยิบ เลอ กัล ประธานคณะกรรมการอาริยองสเปซ เจ้าของธุรกิจการบริการ ส่งยานอวกาศให้แก่ องค์การบริหารการบินยุโรป (European Space Agency : Esa) หรือ "อีซา" กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปีสำหรับดาวเทียมฝีมือมนุษย์ ดวงแรกที่ได้ออกสู่อวกาศ และดาวเทียมนาโนที่บริษัท จะส่งขึ้นฟ้าเหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณแห่งยุคสมัยใหม่ ของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทั้งนี้ หากเทียบกับขนาดของ "สปุตนิก" ที่มีน้ำหนัก 83 กิโลกรัม กับ "นาโนแซท" ที่มีน้ำหนักไม่ถึง 10 กิโลกรัม โดยดาวเทียมจิ๋วจะโคจรรอบโลก ในวงโครจร ที่แคบและใกล้กว่าคือ สูงเหนือพื้นผิวโลกแค่เพียง 2,000 กิโลเมตร ดังนั้น การย่อขนาดของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องยนต์ลงจนเล็กที่สุดเท่าที่จะทำงานได้ เพื่อให้ "นาโนแซท" ที่ระลึกเหล่านี้มีขนาดเบาและเล็กกว่าสปุตนิกลำจริง
สปุตนิก 1 ถือเป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกมากที่สุด เพราะหากรัสเซียไม่ส่งดาวเทียมก่อน การแข่งขันก็จะไม่เกิดเทคโนโลยีรวมไปถึง แนวคิดทฤษฎีต่างๆมากมายที่เราเรียนกันในตำราก็จะไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง และไม่เกิดการเร่งพัฒนาดาวเทียมจนสามารถให้เป็นอุปกรณ์ทางการสื่อสารและโทรคมนาคม ช่วยให้ติดต่อกับประเทศต่างๆ หรือดูการถ่ายทอดสดกีฬา หรือเหตุการณ์สำคัญในที่ต่างๆของโลกได้ทันที
Sputnik Program คือ โครงการส่งยานอวกาศไร้คนขับ ขึ้นสู่วงโคจรของโลก ของสหภาพโซเวียต ซึ่ง สปุตนิกหนึ่ง (Sputnik 1) คือ สุดยอดความสำเร็จในการแข่งขันในการเป็นผู้นำทางด้านอวกาศ ของสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น
รายละเอียดเกี่ยวกับ ดาวเทียม ดวงแรกของโลก
* สปุตนิก 1 ถือ เป็นสิ่ง ประดิษฐ์ ที่ มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ชิ้นแรกที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกสำเร็จ
* สปุตนิก 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 โดยใช้จรวด R-7
* สปุ ตนิก 1 มีรูปทรงเป็น ทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 58 เซ็นติเมตร
* มี น้ำหนักประมาณ 83.6 กิโลกรัม
* ดาวเทียมมีเสารับ-ส่งสัญญาณ ทำหน้าที่สำรวจพื้นผิวของโลกและชั้นบรรยากาศ
* มันโคจรรอบโลกโดยใช้ เวลาประมาณ 96.2 นาที
* การควบคุม และการติดต่อกับดาวเทียมสปุตนิกใช้สัญญาณวิทยุที่ส่งจาก Jodrell Bank Observatory
* ความสำเร็จนี้ทำให้อเมริกาต้องขวัญผวา เนื่องจากดาวเทียมสปุตนิกโคจร ผ่านสหรัฐอเมริกา 7 รอบ ในแต่ละครั้งอเมริกต้องหวาดกลัว ว่าทางโซเวียตจะมีการทิ้งระเบิด นิวเครียร์ ลงมาหรือไม่
* สปุตนิก 1 ปฏิบัติืภาระกิจอยู่ 3 สัปดาห์ และเริ่มโคจรต่ำลงเรื่อยๆ จนหลุดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และลุกไหม้เป็นจุลเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1958
ดาวเทียมสปุตนิก มีภาระกิจหลักอยู่ 5 ภาระกิจ คือ
สปุตนิก 1 ถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยจรวดไบโคนูร์ คอสโมโดรม ที่เมืองเตียราตาม ในคาซักสถาน โดยใช้จรวด R-7 เป็นตัวขับเคลื่อนสู่วงโคจร
1. ทดสอบวิธีการระบุตำแหน่งของดาวเทียม สู่ สถานีที่พื้นโลกที่โคจรอยู่ตลอดเวลา
2. การส่งข้อมูลข่าวสาร ผ่านชั้นบรรยากาศแบบปิด ตลอดระยะเวลาโคจร
3. ทดสอบระบบการติดตาม สอดแนมโดยใช้ สัญญาณวิทยุ และ ภาพถ่าย
4. หาผลผลลัพท์ และผลกระทบ เมื่อส่งคลื่นวิทยุผ่านชั้นบรรยากาศ
5. ตรวจสอบทฤษฎี Pressurization ว่าความดันในอวกาศนั้นเป็นตามแนวคิดหรือทฤษฏี ที่คิดไว้หรือไม่
|
|