ปัญหาเชชเนีย ความเป็นมา เชชเนีย เป็นสาธารณรัฐปกครองตนเอง (Autonomous Republic) ในสหพันธรัฐรัสเซีย มีประชากรก่อนสงคราม 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย บริเวณเทือกเขาคอเคซัส ปัญหาเชชเนียเริ่มขึ้นเมื่อนายพล Dzhokhar Dudayev ประธานาธิบดีเชชเนียได้ประกาศให้สาธารณรัฐของตนเป็นเอกราชอย่างเด็ดขาดจากรัสเซียเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1992 รัฐสภาเชชเนียได้ผ่านรัฐธรรมนูญรับรองการเป็นเอกราชจากรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียไม่ยอมรับรองการประกาศเอกราชดังกล่าวของเชชเนียและถือว่าเชชเนียยังคงเป็น ส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1994 ประธานาธิบดีเยลต์ซินได้ส่งทหารจำนวน 40,000 นาย เข้าไปยังสาธารณรัฐเชชเนียเพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหว เพื่อแยกดินแดนดังกล่าวทำให้เกิดการสู้รบขึ้น ซึ่งยืดเยื้อเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 1996 เมื่อรัสเซียได้ยอมตกลงให้สิทธิปกครองตนเองแก่กลุ่มกบฏแยกดินแดนชั่วคราว จนกว่าจะมีการตัดสินใจในเรื่องการเป็นเอกราชของเชชเนียในปี 2001 โดยรัสเซียได้ถอนทหารทั้งหมดออกจากเชชเนียในเดือนมกราคม 1997 และประธานาธิบดี Aslan Maskhadov ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเชชเนียในเดือนกุมภาพันธ์ 1997 สืบแทนนายพล Dudayev ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างสงครามเชชเนียช่วงปี 1994-1996
ในระยะหลังอำนาจของประธานาธิบดี Maskhadov ได้ลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากอดีตหัวหน้ากองกำลังกบฏแยกดินแดน ซึ่งยังกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเชชเนียได้ตั้งตนขึ้นมามีอำนาจอย่างเป็นเอกเทศ ทำให้ประธานาธิบดี Maskhadov มีอำนาจปกครองเชชเนียเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เหลือกลายเป็นดินแดนเถื่อนไร้กฎหมาย โดยได้มีการลักพาตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียและองค์การระหว่างประเทศที่ไปทำงานอยู่ในเชชเนียหลายครั้ง ทั้งนี้ นายพล Shamil Basayev ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้ากองโจรเชชเนียที่สำคัญที่มีอำนาจมากที่สุด โดยมี Commander Khattab ซึ่งเป็นชาวซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ช่วย
สถานะการณ์เชชเนีย ครั้งที่ 2 - ปัญหาเชชเนียได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 1999 เมื่อนายพล Basayev นำกำลังพลเข้าบุกยึดรัฐ Dagestan (ทางตะวันออกของเชชเนีย) และประกาศว่าจะปลดปล่อยดินแดนตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสจากรัสเซียและเปลี่ยนเป็นรัฐอิสลามอิสระ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัสเซียต้องส่งกองทหาร เข้าโจมตีที่ตั้งของนายพล Basayev ในเขตเชชเนียตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา และได้อ้างว่าเหตุการณ์การลอบวางระเบิด ในรัสเซียในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1999 เป็นฝีมือของกองกำลังกบฏเชชเนีย จนถึงปัจจุบัน รัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปในเชชเนียแล้วประมาณ 90,000 คนและถือว่าสามารถยึดพื้นที่ของเชชเนียไว้ได้หมดแล้ว รวมทั้งกรุง Grozny เมืองหลวงของเชชเนียด้วย เหลือแต่เพียงบริเวณเทือกเขาตามชายแดนเท่านั้น ปัจจุบันเป็นการสู้รบในลักษณะการซุ่มโจมตีทหารรัสเซียแบบกองโจรจากฝ่ายกบฏเชชเนียประปรายเป็นครั้งคราว แต่รัสเซียยังไม่สามารถกำจัดกลุ่มกองโจรเชชเนีย ซึ่งเชื่อว่าหลงเหลือ อยู่ประมาณ 1,000-5,000 คนนี้ให้หมดสิ้นลงได้ ในการนี้ รัสเซียได้ตั้งนาย Akhmad Kadyrov เป็นผู้นำเชชเนีย
- ที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 1999 ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังทางทหารเพื่อโจมตีเชชเนียของรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารและใช้วิถีทางการเจรจาทางการเมืองแทน รวมทั้งอนุญาตให้นานาชาติสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยชาวเชชเนียได้ นอกจากนี้ คณะมนตรียุโรปยังเห็นสมควรที่จะทบทวนนโยบายของสหภาพยุโรปต่อรัสเซียในเรื่อง European Common Strategy on Russia ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ และโครงการ TACIS (Technical Assistance to the Commonwealth of Independent States) และเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2000 Council of Europe (เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีสมาชิก 43 ประเทศในยุโรป ซึ่งรวมถึงรัสเซียด้วย) ได้ลงมติถอนสิทธิในการลงคะแนนเสียงชั่วคราวของรัสเซีย จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงสภาพการปฏิบัติทางด้านมนุษยชนในเชชเนียให้ดีขึ้น นอกจากนี้ รัสเซียยังถูกคว่ำบาตรจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2000 เนื่องจากรัสเซียใช้กำลังทางทหารเข้ากวาดล้างกบฏในเชชเนียแบบราบคาบ ยังผลให้พลเรือนเชชเนียเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
- สมัชชาของสภายุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe PACE) ได้ร่วมกับผู้แทนจากสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ในการจัดตั้งคณะทำงาน เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเชชเนีย ตลอดจนการจัดการให้ชาวเชชเนียได้มีส่วน ในการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยได้เข้าไปในเชชเนียเมื่อเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 แต่ผลที่ออกมายังไม่เป็นที่พอใจของ PACE นัก เพราะขาดความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี PACE มีความพึงพอใจมากขึ้นเมื่อรัสเซียถอนทหารออกจากเชชเนียภายหลังที่ได้โอนอำนาจ หน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเชชเนียจากกระทรวงกลาโหมไปยังสภาความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าการย้ายหน่วยงานรับผิดชอบมาเป็นหน่วยงานพลเรือน แสดงว่ารัสเซียเห็นว่าภารกิจทางทหารของรัสเซียในเชชเนียลดลงแล้ว
- นับตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีปูตินแห่ง รัสเซียได้ปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องเชชเนียหลายเรื่อง ได้แก่ การย้ายเรื่องปัญหาเชชเนียจากการดูแลของกระทรวงกลาโหมไปอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (SFB) และประกาศถอนกองกำลังรัสเซียออกจากเชชเนียบางส่วน คงเหลือไว้เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยประมาณ 50,000 คน โดยจะเน้นการปฏิบัติงานทางด้านข่าวกรองและ ราชการลับมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเชชเนีย โดยมีนาย Viktor Khristenko รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพร้อมทั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 ประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูบูรณะเชชเนียอีกด้วย
- เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2001 Council of Europe ได้ผ่านข้อมติด้วย คะแนนเสียงสนับสนุน 88 คัดค้าน 20 และงดออกเสียง 11 ให้คืนสิทธิในการออกเสียงต่างๆในการประชุม Council of Europe ของรัสเซีย เนื่องจากเห็นว่ารัสเซียมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเชชเนียในทางบวกมากขึ้น และนาย Igor Ivanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง-ประเทศรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัสเซียไม่มีข้อขัดข้องทางการเมืองที่ OSCE จะเปิดสำนักงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในเชชเนีย แต่ในชั้นนี้ ติดขัดปัญหาทางเทคนิคซึ่งจะต้องแก้ไขอีกเล็กน้อย และว่า OSCE คงจะเข้าไปดำเนินการในเชชเนียได้ในไม่ช้านี้
ผลกระทบของสงครามเชชเนีย - รัสเซียได้รับการประนามจากรัฐบาลประเทศตะวันตก และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการไม่ยอมแก้ไขปัญหาโดยวิถีทางทางการเมือง แต่ใช้กำลังทางทหารเข้าบดขยี้ฝ่ายกบฏ โดยใช้วิธีกวาดล้างแบบราบคาบไม่เลือกเฉพาะพื้นที่ตั้งของฝ่ายกบฏ รวมทั้งเน้นการโจมตีทางอากาศเป็นหลัก ยังผลให้ประชาชนเชชเนียไม่ว่า เด็กและสตรีล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือกว่า 500,000 คน กลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยไปยังดินแดนข้างเคียง - ปัญหาเชชเนียทำให้รัสเซียสูญเสียงบประมาณมหาศาล รวมทั้งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และกำลังคน โดยเฉพาะในเรื่องหลังที่ส่งผลกระทบถึงขวัญและกำลังใจของชาวรัสเซีย อย่างมาก ทั้งนี้ นอกจากจะส่งทหารอาชีพไปรบแล้ว รัฐบาลรัสเซียยังได้เกณฑ์เด็กวัยรุ่นรัสเซียออกไปรบอีกด้วย กล่าวกันว่าปัจจุบันทหารที่ประจำการอยู่ในเชชเนียนั้น หนึ่งในสามมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้รัสเซียได้รับการประนามจากนานาชาติและองค์การ ด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ อีกเช่นกัน และจากการสำรวจประชามติล่าสุด ชาวรัสเซียสนับสนุนการทำสงครามเชชเนียเพียงร้อยละ 51 ลดลงจากร้อย 70 ในช่วงแรกของสงครามเชชเนีย
ท่าทีของนานาประเทศและท่าทีของรัสเซีย ประเทศส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาเชชเนียเป็นปัญหาภายในของรัสเซียและเข้าใจสถานะ ของรัสเซียซึ่งมีสาธารณรัฐปกครองตนเองอยู่ 21 แห่ง หากรัสเซียปล่อยให้เชชเนียเป็นอิสระ ในอนาคตสาธารณรัฐอื่นๆ ก็จะต้องเอาแบบอย่าง อย่างไรก็ดี ภายหลังที่นายปูตินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรัสเซียปลายปี ค.ศ. 1999 นั้น นายปูตินต้องการให้สงครามเชชเนียยุติลงโดยเร็ว เพื่อใช้เรื่องเชชเนียเป็นการเรียกคะแนนนิยมสำหรับการลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี จึงเริ่มนโยบายปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ด้วยการโหมใช้กำลังทหารบุกโจมตีแบบกวาดล้างให้ราบคาบ ไม่เลือกว่าเป็นกลุ่มกบฏที่เป็นทหาร หรือพลเรือน ตลอดจนทำลายสถานที่และเมืองต่างๆ ในเชชเนียแบบไม่จำกัดเฉพาะค่ายทหารหรือในสถานที่ทำการสู้รบ แต่รวมไปถึงบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาลหรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ทำให้นานาประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และประเทศยุโรปตะวันตกเริ่มการประท้วงการกระทำของรัสเซีย ในเชชเนียในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัสเซียพยายามคงท่าทีเดิมว่าการใช้กำลังทหารของตนเป็นการกระทำที่ชอบธรรม กองทหารรัสเซียเข้าไปในเชชเนียเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย และรักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของรัสเซีย ปัญหาเชชเนียถือเป็นปัญหาภายในประเทศ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินได้ย้ำถึงจุดยืน นี้ในโอกาสและในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เสมอ รวมทั้ง ได้ย้ำว่าปัญหาเชชเนียเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ เพราะรัสเซียอ้างว่ากบฏเชชเนียได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธและกองโจรจากภายนอกประเทศ จึงจำเป็นที่นานาประเทศต้องร่วมกันปราบปรามปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศนี้ให้หมดสิ้นไป โดยรัสเซียได้กำหนดให้เรื่องการแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศในการปราบปราม ก่อการร้ายระหว่างประเทศเป็นหัวข้อหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของตนด้วย
อดีตและปัจจุบันของเชชเนีย
พื้นที่: กลุ่มกบฏต่อสู้ยิบตาจนเลือดท่วมแผ่นดิน เพื่ออิสรภาพเชชเนียรัฐจิ๋วตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งมีพื้นที่เพียง 15,000 ตร.กม. ราวครึ่งหนึ่งของขนาดประเทศเบลเยี่ยมหรือใหญ่กว่ามลรัฐคอนเนตติกัตของอเมริกัน มีชายแดนติดต่อกับจอร์เจีย ประชากร: ก่อนระเบิดศึกใหญ่กับเครมลินในเดือนธันวาคมปี 1994 เชชเนียมีประชากร 1.1 ล้านคน โดยประชาชน 2 ใน 3 ที่เป็นกลุ่มเชื้อสายเชเชน และ 1 ใน 4 ที่เป็นคนเชื้อสายรัสเซีย กระจุกตัวอยู่ในกรอซนืยเมืองหลวง กรอซนืยซึ่งมีประชากรเกือบ 400,000 คนในปี 1994 ขณะนี้ กลายเป็นเมืองร้างเต็มไปด้วยซากปรักหักพังเนื่องจากสงคราม กลุ่มเชื้อสายรัสเซียทั้งหมดได้เผ่นหนีออกไป ชาวเชเชนจำนวนมากก็ต้องระเห็จไปอาศัยตามค่ายอพยพในเขตเพื่อนบ้านข้างเคียง พลเรือนหลายหมื่นคนถูกปลิดชีพระหว่างสงคราม ศาสนา: เชชเนียเป็นแดนมุสลิม สิ่งที่พญาหมีขาววิตกกังวลมากที่สุดคือ กลุ่มนักสู้อาหรับที่แทรกซึมเข้ามาในเชชเนีย รัสเซียกล่าวหากลุ่มกบฏเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมสุดขั้วในเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์และตอลิบาน เศรษฐกิจ: แดนกบฏมุสลิมของหมีขาว มีแหล่งน้ำมันเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 19 แต่ขณะนี้ ร่อยหรอแทบไม่เหลือ อีกทั้งโรงงานทั้งหมดก็ถูกทำลายย่อยยับ เชชเนียเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญเนื่องจากทอดตัวอยู่ระหว่างเส้นทางท่อส่งน้ำมันจากทะเลแคสเปียนสู่ทะเลดำ มอสโกยังบอกว่ากลุ่มขุนศึกได้ลับลอบขนส่งน้ำมันจำนวนมหาศาล ประวัติศาสตร์: เมื่อคริสเตียนแห่งจอร์เจียตอนใต้ตกลงผนึกดินแดนกับมอสโกปี 1783 มุสลิมแห่งเขตคอเคซัสตอนเหนือก็ถูกปิดล้อม ชีคมันซอว์นำทัพเปิดศึกญิฮัดหรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างทศวรรษที่ 1780 จนยืดเยื้อบานปลายเป็นสงครามคอเคซัส 47 ปี กระทั่งปี 1864 ในปี 1944 จอมเผด็จการโจเซฟ สตาลินแห่งโซเวียตกล่าวหาเชเชนช่วยผู้บุกรุกเยอรมัน และได้ขับเชเชนทั้งหมดออกไปอยู่ตามทุ่งตามป่าในเอเชียกลาง ทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายพันคน ถึงปี 1957 นิกิตา ครุชเชฟก็อนุญาตให้พวกเขากลับบ้าน เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย พลเอกดซอคฮาร์ ดูดาเยฟแห่งกองทัพอากาศชนะคะแนนเสียงสนับสนุน 80% ในการเลือกตั้งเดือนตุลาคมปี 1991 และได้ประกาศอิสรภาพเชชเนีย เชชเนียเริ่มมีชื่อเลื่องลือในฐานะเป็นสวรรค์ของกลุ่มโจรผู้ร้ายและกลุ่มลักลอบของเถื่อนต่างๆ ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินได้สั่งกองกำลังบุกแดนกบฏเดือนธันวาคมปี 1994 ทหารรัสเซียเผด็จศึกยึดเมืองกรอซนืย และพื้นที่จำนวนมากในฤดูใบไม้ผลิปี 1995 แต่ก็ไม่สามารถคุมพื้นที่ตามดงเทือกเขาซึ่งเป็นแหล่งกบดานของกองกำลังกบฏจรยุทธ การจู่โจมจับตัวประกันครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ที่สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์นับร้อย ทำให้มอสโกต้องหันมาเจรจาสันติภาพกับกบฏและถอนกองกำลังออกไปเมื่อปี 1996 โดยปล่อยให้การถกเถียงสถานภาพของเชชเนียคาราคาซัง ดูดาเยฟถูกสังหารในเดือนเมษายนปี 1996 อัสลัน มาสคาดอฟอดีตนายทหารของสหภาพโซเวียต ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมปี 1997 กลุ่มขุนศึกที่เป็นปฏิปักษ์กันก่อศึกรบราฆ่าฟันกันเองอย่างดุเดือด การลักพาตัว ฆาตกรรม ทำให้บรรดาหน่วยงานความช่วยเหลือและชาวต่างชาติเผ่นหนีออกไปจังหวัด กลุ่มจรยุทธเชเชนเปิดศึกใหญ่ก่อกวนพญาหมีขาวระหว่างฤดูร้อนปี 1999 ในดาเกสถาน นอกจากนี้ เครมลินกล่าวหาว่า การถล่มระเบิดรายชุดในมอสโกและเมืองอื่นๆเมื่อปี 1999 ซึ่งสังหารประชาชนเกือบ 300 คน เป็นฝีมือของพวกกบฏเชเชน แต่กลุ่มผู้นำกบฏปฏิเสธลั่น วลาดิมีร์ ปูตินนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยลต์ซิน ได้ใช้เหตุการณ์ระเบิดสร้างความชอบธรรมในการส่งกองทัพเข้าไปในแดนกบฏอีก ตาม ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย แม้ปูติน ซึ่งทะยานขึ้นเป็นประธานาธิบดี บอกในเดือนเมษายนปี 2000 ว่าปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายได้จบลงแล้ว แต่ก็ยังมีการปะทะรายวัน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั้ง 2 ฝ่ายไม่รู้จบ กลุ่มกบฏประกาศชัยชนะครั้งใหญ่ต่อคู่อริ โดยยิงขีปนาวุธสอยเฮลิคอปเตอร์ร่วงในเดือนสิงหาคม 2000 สังหารเหยื่อชาวรัสเซีย 118 คน เหตุการณ์กบฏเชชเนียจับตัวประกันในโรงละครแห่งหนึ่งของมอสโกเมื่อปี 2002 จบลงด้วยการเสียชีวิตของตัวประกัน 129 คน และคนร้าย 41 คน หลังจากตำรวจยิงก๊าซพิษระหว่างจู่โจมเข้าไปในโรงละคร ตุลาคม 2003 อัคห์หมัด คาดิรอฟ ที่รัฐบาลรัสเซียให้การหนุนหลัง ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเชชเนีย พฤษภาคม 2004 เกิดเหตุระเบิดขึ้นกลางกรุงกรอซนืย ทำให้ประธานาธิบดี คาดิรอฟ เสียชีวิต พร้อมผู้บัญชาการสูงสุดประจำภูมิภาค 29 สิงหาคม 2004 พล.ต.ต.อลู อัลคานอฟเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำคนใหม่
การจับตัวประกันครั้งสำคัญของกบฏเชเชน
กบฏเชเชนมักใช้การจับพลเรือนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติเกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชของพวกเขา วิกฤติตัวประกันครั้งรุนแรงครั้งแรกเกิดขึ้น 6 เดือนหลังทางการรัสเซียส่งกำลังเข้าสาธารณรัฐเชชเนียเพื่อป้องกันการแยกตัวเป็นเอกราชในปี 1994 โดยกลุ่มกบฏเชชเนียยึดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองบูเดนนอฟสก์ ทางใต้ของรัสเซียนานหลายวัน แม้จะมีการตกลงเจรจาสันติภาพ(ซึ่งล้มเหลวในเวลาต่อมา) แต่การโจมตีของกลุ่มกบฏและความผิดพลาดระหว่างจู่โจมของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน ดซอคฮาร์ ดูดาเยฟ ผู้นำเชเชนในขณะนั้นออกมาประณามการจับตัวประกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จับตัวประกันอีกครั้งเมื่อปี 1996 ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้คนร้ายจับตัวประชาชนเกือบ 3,000 คนไว้เป็นตัวประกัน ในโรงพยาลาลแห่งหนึ่งในเมืองคิซยาร์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลถอนทหารออกจากเชชเนีย ก่อนจะปล่อยตัวประกันเกือบทั้งหมด และพาตัวประกันส่วนหนึ่งกลับไปที่เชชเนียด้วย อย่างไรก็ตามกองทัพรัสเซียได้ซุ่มโจมตีกลุ่มกบฏระหว่างข้ามพรมแดนไปเชชเนีย ทำให้ตัวประกันหลายคนเสียชีวิต นับเป็นการยุติวิกฤติตัวประกันด้วยเลือดอีกครั้งหนึ่ง สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนเชเชนทำการจี้เรือโดยสารข้ามฟากในทะเลดำ และขู่จะระเบิดเรือซึ่งมีผู้โดยสาร 225 คน หากทางการไม่ยุติความรุนแรงกับกลุ่มกบฏในเหตุการณ์เมืองคิซยาร์ อย่างไรก็ตามคนร้ายกลุ่มนี้ยอมมอบตัวหลังควบคุมเรือนาน 4 วัน หลังสิ้นสงครามเชเชนครั้งแรกในปี 1996 เชเชนกลายเป็นดินแดนไร้กฎหมาย กลุ่มขุนศึกที่เป็นปฏิปักษ์กันก่อศึกรบราฆ่าฟันกันเองอย่างดุเดือด การลักพาตัว และฆาตกรรม มีการจับตัวชาวต่างชาติที่ทำงานให้ความช่วยเหลือไปคุมขังนานนับปี ข้อมูลจากบริษัทความมั่นคง Kroll Associates UK คาดการณ์ว่า ในปี 1998 มีชาวต่างชาติถูกจับเป็นตัวประกันในเชชเนียราว 100 คน เดือนมีนาคม 2001 เครื่องบินที่มีกำหนดเดินทางจากนครอิสตันบุลไปมอสโก ถูกคนร้ายจี้ให้เปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองเมดินา ในซาอุดีอาระเบีย เหตุการณ์จบลงด้วยการเสียชีวิตของคน 3 คน หลังกองกำลังความมั่นคงของซาอุดีอาระเบียบุกเข้าจู่โจมเครื่องบิน หนึ่งสัปดาห์ต่อมา คนร้ายที่สนับสนุนกลุ่มเชเชนจับนักท่องเที่ยวราว 120 คน ในโรงแรมหรู ที่อิสตันบูล ไว้เป็นตัวประกันเพื่อต่อต้านสงคราม เดือนกรกฎาคม 2001 นักรบเชเชนจับตัวผู้โดยสารราว 30 คน ในรถบัสทางใต้ของรัสเซีย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักรบที่ถูกจับกุมตัวจากการจี้เครื่องบินเมื่อครั้งก่อน เดือนพฤษภาคม 2002 คนร้ายหนึ่งคนบุกเดี่ยวจับตัวประกันราว 10 คน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในอิสตันบูล แต่ภายหลังทั้งหมดถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ เหตุจับตัวประกันที่นับว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซีย น่าจะเป็นการจับตัวประกันในโรงละครแห่งหนึ่งของมอสโกเมื่อปี 2002 โดยกลุ่มกบฏราว 40-50 คน ที่มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการเสียชีวิตของตัวประกัน 129 คน และคนร้าย 41 คน หลังจากตำรวจยิงก๊าซพิษระหว่างจู่โจมเข้าไปในโรงละคร หลังจากนั้นกลุ่มกบฏเชเชนก็โจมตีด้วยการใช้ระเบิดพลีชีพเป็นระยะๆ นอกเหนือไปจากการโจมตีกองทัพรัสเซียในเชชเนียรายวัน ขณะที่กองกำลังความมั่นคงของทางการก็ไม่รามือ ตามเก็บสมาชิกกลุ่มเชเชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ความขัดแย้งระหว่าง เชเชน กับ เครมลิน
ความขัดแย้งอันเก่าแก่ระหว่างคนเชเชนกับคนรัสเซีย เป็นผลพวงจากหลายสาเหตุ โดยมีต้นตอสำคัญสองประการคือ ประการแรก ชาวเชเชนในเชชเนียเรียกร้องขอสิ่งที่รัสเซียทำใจยอมให้ไม่ได้ นั่นคือการร้องขอเอกราช ด้วยความที่เชชเนียเป็นดินแดนที่ต่อเนื่องกับแผ่นดินแกนกลางรัสเซีย ความรู้สึกของคนมอสโกต่อแผ่นดินเชชเนียจึงมีความเป็นเจ้าของอย่างรุนแรง และทำให้รัสเซียมองคนเชเชนเป็นดั่งกบฏแยกดินแดน กระแสต่อสู้เพื่อเอกราชในหมู่คนเชเชนพุ่งสูงในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดินิยมโซเวียต (อันเป็นแหล่งที่มาของอำนาจบริหารประเทศระดับสูงสุดที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเสวยต่อเนื่องจากอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน) สหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซียจัดการกับปัญหาเชชเนียด้วยนโยบายไร้ความยืดหยุ่นใดๆ ทั้งสิ้น ในนโยบายนี้ รัสเซียกำหนดให้อำนาจปกครองตัวเองเพียงบางส่วนแก่เชชเนีย หาไม่แล้วก็จะยึดครองเชชเนียอย่างเต็มรูปแบบด้วยกำลังทหาร ในขณะเดียวกันชาวเชเชนต้องการเอกราชสมบูรณ์เฉกเช่นรัฐประเทศอื่น อาทิ ยูเครนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสหภาพโซเวียต ประการที่สอง เชชเนียตกอยู่ภายใต้การบีฑาของกองกำลังทหารรัสเซียที่ใช้อาวุธหนักโจมตีเนิ่นนานกว่าสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบทศวรรษ1990 รัสเซียส่งทหารเข้ากำหราบเชชเนียอย่างน้อยสามครั้ง นับจากปลายปี1999 มาจนปัจจุบัน ปฏิบัติการที่ทหารรัสเซียฟาดฟันคนเชเชนในเชชเนียเป็นไปอย่างโหดร้ายทารุณ มิใยที่สภาแห่งยุโรปจะเรียกร้องให้ใช้นโยบายที่มีมนุษยธรรมบ้าง แรงกดดันจากการถูกบีฑาทำให้กลุ่มเชเชนฝ่ายนิยมความรุนแรงเฟื่องฟูขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ปฏิบัติการก่อการร้ายของเชเชนสร้างความโกรธแค้นและหวั่นกลัวในหมู่คนรัสเซียรุนแรงเช่นกัน แต่นั่นมิได้ทำให้รัฐบาลรัสเซียดำเนินการแก้ปัญหาที่ต้นตอ และยังยืนหยัดนโยบายยึดครองเชชเนียอย่างเคร่งครัด ฐานข้อมูลของหนังสือพิมพ์การ์เดียนแห่งอังกฤษ เล่าปูมความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างผู้ยึดครองกับผู้ถูกยึดครองคู่อื้อฉาวแห่งภูมิภาคเทือกเขาคอเคซัสตอนเหนือว่า สามารถสืบสาวขึ้นไปได้เก่าแก่หลายร้อยปี โดยที่ว่าในศตวรรษที่ 19 เชชเนียตกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลคอมมิวนิสต์รัสเซียใช้ความรุนแรงกำราบชาวเชเชนที่ใช้โอกาสสมัยที่รัสเซียติดพันทำศึกกับเยอรมนี ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ในยุคนั้นชาวเชเชนจำนวนมหาศาลถูกเนรเทศโยกย้ายไปผจญความลำเค็ญในเขตไซบีเรีย เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนเชเชนเสียชีวิตมากมาย และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดสามารถเล็ดรอดกลับบ้านคืนเมืองสำเร็จ ในต้นทศวรรษ 1990 เมื่อนโยบายกลาสนอฟของอดีตประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟเฟื่องฟูขึ้นมา สังคมรัสเซียเข้าสู่สถานการณ์เปิดกว้าง และนำไปสู่ความวุ่นวายและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในครั้งนั้น อดีตประธานาธิบดีเยลต์ซินประสบความสำเร็จก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐรัสเซีย ขณะที่หลายรัฐที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตได้เป็นอิสระออกไป อาทิ ยูเครน, เบลารุส, คาซัคสถาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเชชเนียซึ่งเป็นรัฐชายแดนขนาดเล็กของรัสเซีย ณ ด้านที่ติดเทือกเขาคอเคซัสตอนเหนือ ไม่ได้รับไฟเขียวให้เป็นเอกราช ในช่วงแรกของยุคสหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซีย ท่าทีของรัสเซียยังไม่รุนแรง แต่ใช้วิธีหนุนเชเชนฝ่ายสวามิภักดิ์รัสเซียให้ได้ครองอำนาจบริหารสูงสุด อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 1991 เชเชนฝ่ายเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์แบบเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง รัสเซียคัดค้านอย่างโจ่งแจ้ง และเนื่องจากภายในเชชเนียมีความวุ่นวายจากความขัดแย้งภายใน ดังนั้นเดือนต่อมา รัสเซียประกาศภาวะฉุกเฉินในเชชเนีย พร้อมกับส่งกองกำลังเข้าไป เนื่องจากชาวเชเชนต่อสู้อย่างเต็มที่ และรัฐสภาของรัสเซียก็ไม่หนุนนโยบายนี้ของเยลต์ซิน กองกำลังรัสเซียจึงต้องถอนตัวไปจากการโจมตีเชชเนีย เดือนมีนาคม 1992 ประธานาธิบดีดูดาเยฟของเชชเนียไม่ยอมลงนามสนธิสัญญารับอำนาจปกครองตัวเองเพียงบางส่วน ซึ่งเท่ากับยอมรับฐานะความเป็นรัฐในปกครองของสาธารณรัฐรัสเซีย ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายนี้จึงร้าวฉานและระอุตลอดเวลา ในปี1994 เกิดสงครามกลางเมืองในเชชเนีย ระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีดูดาเยฟ กับฝ่ายที่รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย ในเดือนธันวาคม รัสเซียจึงตัดสินใจใช้กองกำลังเข้ายึดเชชเนียอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการระดมถล่มกรุงกรอซนืยอย่างยับเยินและการสังหารคนเชเชนหลายหมื่นรายภายใน 20 วันของปฏิบัติการ รัสเซียก็ได้เชชเนียไว้ในอำนาจ รัสเซียอำนวยการตั้งรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูชาติขึ้นเพื่อเป็นหุ่นเชิดในการยึดครองเชชเนีย แต่ความนิ่งครอบคลุมเชชเนียได้ไม่ตลอดปี พอตุลาคม 1995 กลุ่มเชเชนต่อต้านรัสเซียลุกฮือและทำสงครามแย่งชิงกรุงกรอซนืย เหตุการณ์สู้รบยืดเยื้อตลอดปี 1996 จนรัสเซียเป็นฝ่ายริเริ่มถอนตัวออกจากความย่อยยับที่เป็นภาระทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแห่งนี้ การเจรจาที่อำนวยการโดยนายพลอเล็กซานเดอร์ เลเบด ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเยลต์ซิน สรุปได้ในสิงหาคม 1996 ว่าจะระงับการถกเถียงเอกราชของเชชเนียเป็นเวลาสามปี และรัสเซียเริ่มถอนทหารออกจากเชชเนียตั้งแต่เดือนมกราคม 1997 ในระหว่างนั้น รัสเซียมิได้ปล่อยให้เชชเนียสงบสันติ ขณะที่การโต้ตอบจากเชเชนฝ่ายต่อต้านรัสเซียก็ปรากฏเป็นระยะ ด้วยความที่นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน (ตำแหน่งขณะนั้น) เดินนโยบายกำราบความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านเชเชนด้วยความรุนแรงและเฉียบขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งทหารเข้าทำศึกและยึดครองเชชเนียตลอดตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี1999 มาจนถึงขณะนี้ ปูตินจึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่หนุนเนื่องปูตินขึ้นไปเถลิงอำนาจสูงสุดในตำแหน่งประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซีย นับเนื่องมาถึงปัจจุบัน นโยบายปราบด้วยความเข้มงวดเฉียบขาดเป็นนโยบายหลักที่รัสเซียดำเนินการต่อเชชเนีย ในการนี้ถึงกับมีการกีดกันไม่ให้นักข่าวมีเสรีภาพที่จะรายงานเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ในเชชเนีย รายงานข่าวที่ลักลอบทำออกมาได้ระบุถึงความเหี้ยมโหดทารุณที่ทหารรัสเซียกระทำต่อชาวเชเชน แม้แต่ลอร์ดแฟรงก์ จัดด์ ผู้แทนพิเศษแห่งสภาแห่งยุโรปก็เขียนบทความพาดพิงถึงสามปีแห่งความทารุณที่คนเชเชนได้รับ อาทิ การถูกสังหาร ข่มขืน ปล้นชิงทรัพย์ ตลอดจนการทำลายล้างบ้านเรือนประชาชนอย่างชนิดที่ใช้คำว่า เกินความเหมาะสมและขาดการไตร่ตรอง ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายเชเชน ขยายขอบเขตออกจากการต่อสู้ตอบโต้กับทหารรัสเซีย ไปสู่การอาละวาดเล่นงานประชาชนคนรัสเซียถึงในกรุงมอสโก และเมื่อขนาดความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายเชเชนมีแต่จะเติบใหญ่อย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งเมื่อปรากฏว่าวิธีปราบผู้ก่อการร้ายด้วยความรุนแรงของทางการรัสเซียกลับย้อนเข้าทำร้ายผู้คนรัสเซียเสียเอง ความเชื่อมั่นที่คนรัสเซียเทให้แก่ปูตินจึงสั่นคลอนหนักขึ้นเรื่อยๆ ภาพลักษณ์ที่เคยมองกันว่าปูตินเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยก็เสียหาย
ข่าวบางช่วงของสถานะการณ์
สถานีวิทยุซีอาไอปักกิ่งรายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๗ นี้ (GMT+08:00) 2004-09-17 21:38:22 ) นายบาซาเยฟ หัวหน้ากลุ่มกบฏในเชชเชนของรัสเซียได้ประกาศแถลงการณ์ฉบับหนึ่งโดยผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่งว่า รับผิดชอบต่อเหตุการณ์จี้ตัว ประกันในเบสลาน
นายบาซาเยฟกล่าวในแถลงการณ์ฉบับนี้ว่า กองกำลังติด อาวุธที่อยู่ใต้การนำของเขาได้ทำการเคลื่อนไหวโจมตีโรงเรียนที่หนึ่งในเมืองเบสลาน ในขณะเดียวกัน เขายังประกาศว่า รับผิดชอบต่อวินาศกรรมเครื่องบิน 2 ลำ ของรัสเซีย ที่ตกก่อน หน้านี้ ตลอดจนเหตุการณ์ก่อการโจมตีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่มอสโกในช่วงใกล้ ๆ นี้ |