| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : เสด็จเยือนรัสเซีย
สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน | " พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมารทรงพระนามว่าเซอร์เรวิช แกรนด์ ดุ๊ก นิโคลัส ได้เสด็จเยือนประเทศไทยหรือประเทศสยามในเวลานั้นระหว่างวันที่ 20 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2434 รวมเป็นเวลา 5 วัน
โดยทรงได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดที่พักประทับแรมถวายที่พระราชวังสราญรมย์และได้นำเสด็จ "ปิกนิกใหญ่" ทอดพระเนตรการคล้องช้างที่จังหวัดอยุธยา
ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยือนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นการตอบแทนที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเวลา 11 วัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเป็นเวลา 9 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
ซึ่งต่อมาได้ถือเป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย - รัสเซียอย่างเป็นทางการ การเสด็จเยือนรัสเซียพร้อมการฉายภาพทั้งสองพระองค์ประทับนั่งคู่กันตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วยุโรปถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราโชบายที่ทำให้ประเทศสยามรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษหรือฝรั่งเศส "
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (พระราชวังฤดูร้อน) นอกเมืองนครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2440 ในคราเสด็จประพาสยุโรป
ความสัมพันธ์ ดุจเครือญาติระหว่างสองราชวงศ์ มิตรภาพที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสยาม - รัสเซีย
ผมมีโอกาสชมนิทรรศการ A Passage to Russia จากเพนียดคล้องช้างถึงรัสเซีย ที่การบินไทยร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่จัดขึ้นที่ชั้นจี เซ็นทรัลเวิลด์ ได้รับความประทับใจความมีอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยิ่งนัก
นิทรรศการนี้บอกเล่าประวัติความเป็นมาถึงความสัมพันธ์ ไทย- รัสเซีย เมื่อ 140 ปีที่แล้วว่าเริ่มต้นอย่างไร
รัชกาลที่ 5 กับ ชาร์นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย
ส่วนเหตุผลในการจัดนิทรรศการนั้น สมใจนึก เองตระกูล กรรมการบริษัท ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) ได้เขียนไว้ในเอกสารว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ การบินไทย จะเปิดเส้นทางบินสู่กรุงมอสโกเป็นครั้งแรก และเพื่อฉลองความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองแผ่นดินด้วย
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม และทีมงาน ได้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ ไทย - รัสเซียไว้อย่างกระชับว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือกษัตริย์แห่งบูรพทิศในยุคพายุร้ายแรงแห่งการล่าอาณานิคมกำลังรุนแรง
การสานสัมพันธ์อย่างเสมอภาคระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์โรมานอฟ คือจุดที่แตกต่างแบบทูตที่ปิดปากน้ำและเรือปืนของชาวอัสดงคตประเทศ
การเสด็จเยือนสยามของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ก่อนจะเสด็จวางศิลาฤกษ์เส้นทางรถไฟสายไซบีเรียนที่ยาวที่สุดในโลกคือความหฤหรรษ์ในโลกตะวันออกของคณะเดินทางและหมุดหมายทางการเมืองอย่างสำคัญของสยามประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียดินแดนบางส่วน
ภาพ : การคล้องช้างครั้งสุดท้ายของแผ่นดินสยาม เพื่อต้อนรับและถวายทอดพระเนตรแด่ ซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส ที่พระนครศรีอยุธยา
การต้อนรับอย่างอลังการ ณ พระบรมมหาราชวัง ขบวนปิกนิกทางเรือที่ยิ่งใหญ่ การคล้องช้างครั้งสุดท้ายของแผ่นดินสยาม ตลอดจนงานเลี้ยงใต้แสงจันทร์ ณ พระราชวังฤดูร้อนที่บางปะอิน คือ 5 วัน แห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์สองแผ่นดิน
แผนเสด็จประพาสยุโรปกว่า 9 เดือน ใน พ.ศ. 2440 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังทรงพระประชวรด้วยอาดูรจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 เพื่อเสด็จฯ เยือนราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรป เป็นการดำเนินนโยบายทางการเมืองแสวงหามิตรประเทศรวมทั้งเสด็จฯ เยี่ยมเพื่อนคุ้นเคยที่เถลิงถวัลย์เป็นกษัตริย์แห่งราชสำนักรัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 และความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยาม และพระประมุขรัสเซียที่เป็นไปอย่างอบอุ่นดุจญาติพี่น้อง คือรากฐานสำคัญยิ่งที่นำมาซึ่งการสถาปนาควาสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส ที่พระราชวังบางประอิน พ.ศ. 2434
จุดเริ่ม.....ที่แตกต่าง
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย หากเปรียบกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ รวมไปถึงฮอลันดาและโปรตุเกส ที่เข้ามายังกรุงสยามแต่ครั้งสมัยอยุธยา ก็อาจกล่าวได้ว่ามีความเป็นมาอันแสนสั้นเพราะเพิ่งเริ่มต้นย้อนหลังได้ในราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพ : ขยายส่วนพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์การทูตที่สั้นกว่าหลายประเทศในทวีปยุโรป แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกับประเทศยุโรปอื่นๆ โดยสิ้นเชิง เพราะต้นสายปลายเหตุแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับรัฐ เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ฉันมิตรอันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริยาธิราชของทั้งสองประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส ที่พระราชวังบางประอิน พ.ศ. 2434
ปฐมสัมพันธ์ : เรื่องเล่าของดินแดนอันลี้ลับจากบันทึกนักเดินทาง
สยามกับรัสเซียรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการผ่านมุมมองของนักเดินทางและนักผจญภัยนิรนามที่เคยย่างกรายเข้ามา เพราะมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมของแผ่นดินสยามปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อยาว เรื่องประวัติศาสตร์การเดินทางรอบโลกของอันตอน ฟรังซัวส์ เปรวอสต์ พร้อมกับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณี ท้องถิ่น ขนบธรรมเนียม ศาสนา ศิลปะ การค้าและงานฝีมือ อีกทั้งแผนภูมิภาพประกอบ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษารัสเซีย เมื่อปีพ.ศ. 2333 โดยนายนิโคลัส โนวิตอฟ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์
ภาพ : เรือรบหลวงปาเมียต อโชวา เรือพระที่นั่งซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส เพื่อเสด็จเยือนสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434
การเผชิญหน้าที่เป็นรูปธรรมกลางท้องน้ำ : มุมมองที่เป็นมิตรจากอาคันตุกะต่างแดน
การพบปะกันอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ เกิดขึ้น ณ ท้องน้ำเจ้าพระยาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2406 เมื่อเรือ 2 ลำจากรัสเซีย คือ เรือไกดาม้าก และเรือลาดตระเวน โนวิก ซึ่งอยู่ในการควบคุมของพลเรือโทอเล็กเซ เปสชูรอฟ แล่นมาทอดสมอที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา เรือทั้งสองได้รับคำสั่งจากฐานทัพเรือที่ปากแม่น้ำอามูร์ในไซบีเรียให้มาสำรวจ ดินแดนที่ยังลี้ลับสำหรับรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บันทึกของเปสชูรอฟได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติเชิงบวกที่เขามีต่อรัฐบาลและชนชาวสยามในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เขาเห็นว่า ชาวสยามเป็นคนขยันหมั่นเพียรและมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความปรารถนาดีแก่ชาวต่างชาติ ทั้งๆ ที่ชาวต่างชาติบางพวก ไม่เคารพยำเกรงรัฐบาลเลยก็มี แต่รัฐบาลเองกลับพยายามที่จะรักษาความเข้าใจอันดีงามกับทุกชาติเสมอ มุมมองที่เป็นมิตรนี่เองทำให้เขาและคณะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝ่ายไทย และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ที่พระราชวังฤดูร้อน พ.ศ. 2440
การมาเยือนของเรือทั้ง 2 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัสเซียในเวลาต่อมา เมื่อผลัดแผ่นดินแล้วรัสเซียได้ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับสัมพันธ์ไมตรีกับสยามต่อมาอีก 2 วาระ คือครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2416 และครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2425 ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมาเยือนครั้งที่ 2 ผู้แทนจากรัสเซีย คือพลเรือตรีอัสลันเบกอฟ ได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 100 ปี โดยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบปะสนทนากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอำนาจในขณะนั้น และแม้ว่าความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเซ็นสัญญาทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียยังไม่บรรลุผล เพรานโยบายทางเศรษฐกิจของรัสเซียมุ่งความสนใจไปยังคาบสมุทรบอลข่าน และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าใดๆ กับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ แต่การเริ่มต้นที่ดีและผลพวงของความสัมพันธ์ที่กล่าวกันว่า มีแต่ความชื่นใจ ไมตรีจิตต่อกันเป็นการปูพื้นฐาน ที่ดีงาม เพื่อขยายสายสัมพันธ์ครั้งหน้าของประเทศทั้งสอง ก็ได้แนวทางที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างจริงจังในอีก..ต่อมา
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส ที่พระราชวังบางประอิน พ.ศ. 2434
บ่ายหน้าบูรพา : การเสด็จเยือนสยามของเซอร์เรวิช แกรนด์ ดุ๊ก นิโคลัส เพื่อเสด็จเยือนสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434
รัสเซียเกิดความต้องการที่จะขยายแสนยานุภาพมาทางตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงดินแดนภายในกับประเทศโพ้นทะเล ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน ก็ได้อุบัติขึ้น และมีการกำหนดให้วางศิลาฤกษ์ ณ เมืองวลาติวอสต็อก ในปี พ.ศ.2434 โดยมี ซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส เป็นประธานในพิธีนี้ เรือรบหลวงปาเมียต อโชวา นำพาพระองค์และคณะผู้ติดตามออกจากรัสเซีย โดยใช้เส้นทางทะเลดำ ผ่านอียิปต์ ไปแวะอินเดีย ก่อนที่จะตัดผ่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไปยังวลาดิวอสต็อกอันเป็นเมืองจุดหมายปลายทาง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ เพราะในเวลานั้นสยามถูกขนาบข้างจากฝรั่งเศสและอังกฤษที่เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยโดยตรง ดังนั้นรัสเซียเป็นมหาอำนาจยุโรปที่ควรค่าต่อการผูกมิตรเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศเดียวที่มิได้มีนโยบายแสวงหาอาณานิคมหรือผลประโยชน์ในดินแดนแถบนี้ และแล้วมกุฎราชกุมารจากรัสเซียทรงตอบรับคำทูลเชิญระหว่างที่เรือหลวงรัสเซียจอดพักที่สิงคโปร์ เพื่อเสด็จเยือนสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434
ภาพ : ส่วนขยายโดยตัดส่วนอื่นๆ ออก
อลังการงานต้อนรับ : 5 วันแห่งความทรงจำ
สยาม...ดินแดนนิยายทางตะวันออก เป็นแดนสวรรค์ส่วนหนึ่งทีเดียว นับแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายที่เราได้รับการต้อนรับจากพระมหากษัตริย์ผู้ครองประเทศ คือคิงส์จุฬาลงกรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยไมตรีจิตอันจับใจยิ่ง ทั้งวัฒนธรรมและผู้คนพลเมือง เราได้เห็นวัดวาอารามแสนงดงาม ยอดแหลมสูงเสียดฟ้า และแม้หลังคาวัดก็ส่องแสงจับลำน้ำเจ้าพระยา มีดนตรีพื้นเมือง ระบำรำฟ้อน แม้แต่การกีฬาตลอดจนการนำเอาช้างป่าประมาณสองสามร้อยเชือกมาส่งเสียงร้อง และเกือบจะเข้ามาชนกัน สิ่งต่างๆ ที่แสดงต้อนรับเรานั้น เราไม่ทราบว่าจะสรรหาคำอะไรที่จะนำมาเป็นมาตรฐานในการกล่าวขวัญถึง หรือตัดสินสำหรับการต้อนรับเช่นนี้ได้
ภาพ : ส่วนขยายโดยตัดส่วนอื่นๆ ออก
การเสด็จเยือนประเทศสยาม
ช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434 นับเป็น 5 วันแห่งความทรงจำโดยแท้ เพราะเป็นครั้งแรกที่สยามได้มีโอกาสรับเสด็จพระราชอาคันตุกะชั้นสูงที่ถือว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลประเทศมหาอำนาจ การต้อนรับเป็นไปอย่างมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่วันที่เรือพระที่นั่งผ่านสันดอนปากน้ำเข้ามายังท่าเทียบเรือที่ประดับประดาอย่างงดงาม ด้วยข้อความแสดงการต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย ทหารกองเกียรติยศสยามที่บรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จ จนกระทั่งถึงวันส่งเสด็จกลับ จนถึงกับเกิดคำพูดกล่าวเปรียบเปรยกันติดปาก สัพยอกใครต่อใครที่ทำอะไรใหญ่โตหรูหราว่า ยังกับรับซาร์จากรัสเซีย
3 วันในพระนคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพอันยืนยง พระราชวังสราญรมย์ได้รับการตกแต่งอย่างดีที่สุด เพื่อให้มิตรจากต่างแดนสุขสบายราวบ้านตน พิธีพระราชทาน สายสะพายจักรี สีเหลืองสด ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ชั้นสูงสุดของไทยที่สงวนไว้ เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูง แด่ แกรนด์ดุ๊ก ซาร์เรวิช ถือเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ถึงความยินยอมพร้อมใจ ที่จะรับอาคันตุกะจากอีกซีกโลกเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวจักรี
ภาพ : เป็นพระรูปของทั้งสองพระองค์ที่เผยแพร่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ในขณะนั้น
สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามตลอดเหนือและใต้ตลอดทั้งหัวเมืองประเทศราชทั้งปวง ขอแต่งตั้งองศ์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์รัสเซีย เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งพระราชวงศ์จักรีของกรุงสยาม ขออำนวยพรให้องค์มกุฎราชกุมารจงประสบความสำเร็จสืบไปในภายหน้า ขอให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกจงช่วยปกปักษ์คุ้มครองรักษาพระองค์ และขอให้ประสบแต่ความสุขสวัสดิ์สืบไป
2 วันสุดท้าย ซาร์เรวิชและคณะเสด็จพระราชวังบางปะอิน โดยพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานการรับรองในลักษณะของการปิกนิกแบบไทย ที่ไปกันเป็นคณะใหญ่จำนวน 3,000-4,000 กว่าคน และมีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จจำนวนนับร้อย สิ่งสำคัญที่สุดของการต้อนรับครั้งนี้ คือจัดให้มีพระราชพิธีคล้องช้างเกิดขึ้นที่เพนียด เป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการคล้องช้างป่าต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมากและยังถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ไม่ได้จัดขึ้นอย่างง่ายๆ ซาร์เรวิช เคยทอดพระเนตรการแสดงเช่นนี้มาแล้วที่ศรีลังกา แต่ที่นั่นก็มีช้างเพียง 9 เชือก ในขณะที่สยามมีช้างป่าเข้าร่วมถึง 300 เชือก
ภาพ : ภาพจากหนังสือที่ระลึกสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ อนุสรณ์แห่งมิตรภาพระหว่างรัสเซียและสยาม
การคล้องช้างแบ่งเป็น 2 วัน ในวันแรกนั้นสามารถคล้องช้างงาใหญ่ที่อาละวาดอย่างหนักได้เพียงตัวเดียว ความที่เป็นช้างพลายตัวเดียวที่คล้องได้วันนั้น จึงได้ชื่อเรียกว่า พลายซาร์วิช
ภาพ : สูจิบัตรที่ระลึกการเสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จันทรประภาสสโมสร : ประชุมเดือนหงายใต้แสงจันทร์
ยามกลางคืนได้จัดให้มีมูนไลต์ปาร์ตี้ขึ้น ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรในพระราชวังบางปะอิน บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้นรื่นรมย์ และมีการจุดโคมทั่วบริเวณอย่างสว่างไสว พร้อมกันนั้นได้จัดแสดงชุดต่างๆ เพื่อถวายความบันเทิงแด่พระราชอาคันตุกะสำคัญอย่างพร้อมสรรพ ตามรายละเอียดที่บันทึกไว้ดังนี้ :
มีร้านเลี้ยงอาหารแลของดื่มต่างๆ แลบุหรี่มากมาย ทั้งแจกพวงมาไลย์แลช่อดอกไม้ ซึ่งทำอย่างปราณีต 4 ร้านปลูกอย่างปรำผูกผ่านตกแต่งงดงาม จัดหญิงซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ประจำทุกร้าน ร้านละสองคน พอค่ำลงจุดไฟฟ้าแลโคมญี่ปุ่นโคมหิ้วสว่างไสวแล้ว จัดร้านเสร็จบริบูรณ์ โปรดให้แกรนด์ดุ๊ก ซาร์วิตส์ และปรินศ์ยอช ทั้งพวกรุสเซียและเจ้านาย ข้าราชการเที่ยวเดินเล่น มีแตรเป่า 2 วง เวลา 2 ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงออกพระราชดำเนินด้วย ซาร์วิตส์ สักครู่หนึ่งเสียงเป่าแตรเพลงเดินมาอีกวง 1 แลเสียงโห่ฮิ๊วครึกครื้นนฤนาท แดงครึดไปด้วยไฟคบไฟเทียนเป็นอันมาก มีกระบวนต่างๆ คือแตรวงทหารหนึ่งนำหน้า คนผู้ชายถือคบเดินเป็นคู่ มังกรเพลง แคน เดินรำแลขับร้องต่างๆ แลพลทหารเรือถือกิ่งไผ่ติดเทียบแลคนเป่าปี่ตีฉาบ สิงห์โตล่อแก้ว ผู้หญิงถือเทียน ลาวเป่าขลุ่ย คนถือเทียนพุ่ม แลละครเรื่องรามเกียรติชุดหนึ่ง รำถวายตัว แลมีทหารถือเทียนโคมบัวเป็นที่สุด เวลา 5 ทุ่มเศษเสด็จขึ้น ซาร์วิตส์แลพวกรุสเซียเจ้านายข้าราชการยังนั่งเล่นเดินเล่นอยู่จน 7 ทุ่ม หมดการประชุม
ภาพ : พระราชวังสราญรมย์ ใช้เป็นที่พำนักของซาร์เรวิช และผู้ติดตาม
น้ำใสใจสยาม : การต้อนรับภาคพสกนิกร
พระเจ้าอยู่หัวของเรา ได้มีโอกาสต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่ประเสริฐยิ่งนัก ฉะนั้นพวกเราจงพากันถวายการต้อนรับอย่างดีที่สุดเท่าที่จะสามารถแสดงออกมาได้
ข้อความข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลสยามได้บอกกล่าวแก่คนในปกครองถึงการมาเยือนของมิตรต่างแดนคนสำคัญ และได้รับการบันทึกไว้ในรายงานการเดินทางชื่อ การเสด็จมาเยือนประเทศสยามของพระเจ้านิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารรัสเซีย ค.ศ.1890-1891 รจนาโดยเจ้าชาย อี ออค ทอมสกี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามการเสด็จสู่ตะวันออกของมกุฎราชกุมารรัสเซีย เจ้าชายออคทอมสกี้ได้ทรงบันทึกถึงความประทับใจอย่างลึกซึ้งต่อการแสดงออกอย่างบริสุทธิ์และจริงใจของราษฏรไทยที่พากันมาถวายการต้อนรับกันอย่างคับคั่ง สิ่งละพันอันละน้อยที่ชาวบ้านติดไม้ติดมือมาถวายมหามิตรแห่งเจ้าเหนือหัวของตน เป็นสิ่งที่ชาวรัสเซียเห็นว่าเป็นของขวัญแท้ เพราะเป็นการให้สิ่งที่ดีที่สุดที่ตนมีจริงๆ
....ราษฏรกระบวนแห่ประมาณสามพันคนเศษเดินเป็นตับ เป็นพวกกันตามชายหญิง มีของถวายซาร์ดวิตส์ คนละสิ่งสองสิ่งแปลกๆ กันเป็นอเนกปริยาย ทั่วทุกคนคือกระบวนรวงเข้าทำเป็นฉัตรแลชะลอมบรรจุผลไม้แลกรงสัตว์ต่างๆ มีนกกระต่าย นกกินปลา แลอื่นๆ เป็นต้น ทั้งของใช้ เช่น หมอนขวาน โม่แป้ง เป็นต้นก็มี ตั้งเต็มไปทั้งลานพระที่นั่งแลในสนาม คนแห่ คนดูแน่นเบียดยัดกันอย่างยิ่ง...
(สยามบันทึก)
มีฝูงชนชาวบ้านทั้งชายและหญิงอายุต่างๆ กัน พากันถือของขวัญเข้ามาถวายด้วยความจริงใจ บางคนก็มีกรงสัตว์หรือนก บ้างก็มีผลไม้หรือผักต่างๆ บางคนก็มีผ้าทอพื้นบ้าน บ้างก็มีหมอนที่มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมเหมือนปิรามิด ประชาชนเหล่านี้เข้ามาอย่างเงียบสนิท ไม่มีเสียงอะไรเลยทั้งๆ ที่มีจำนวนราวสองพันคน เข้ามาอยู่ตรงหน้าเราเต็มไปหมด ต่อจากนั้นก็พากันก้มลงกราบถวายความเคารพ วางของถวายลงบนพื้นแล้วก็พากันนั่งราบด้วยอาการสงบ ทำให้คนที่มาทีหลังต้องรีบวางของของตนเองลงในที่อันจำกัด เท่านี้ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับองศ์มกุฎราชกุมาร...ของที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นของพื้นๆ แต่ด้วยการแสดงออกทำให้สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้มีค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้ ท่ามกลางสีสันต่างๆ ของบรรดาผ้าห่มผ้านุ่งของชาวบ้านนี้ และท่ามกลางรอยยิ้มอย่างจริงใจออกมาจากใบหน้าของพวกเขา ทำให้บรรดานกและสัตว์ทั้งหลายต่างมีความสำคัญขึ้นมาด้วยทีเดียว นกที่เขาเอามาถวายนั้นมีอยู่ชนิดหนึ่งนกตัวเล็กๆ มีขนหลากสี และขับได้เป็นเสียงต่างๆ มีหนูตัวเล็กๆ ไม่มีหาง นอนไม่กระดุกกระดิกอยู่ในกรง ซึ่งดูใหญ่กว่าตัวมันมาก นกแก้วสีเขียวที่ตรงจงอยปากมีลายพาดสีดำคล้ายหนวด ดูท่าทางพยายามจะบินออกไปหาอิสรภาพเหมือนกัน มีนกเค้าแมวกระพือปีกพึบพั่บหนีไปได้ ระหว่างนั้น บรรดาผู้คนที่จงรักภักดีต่างก็หมอบราบไม่ไหวติงอยู่รอบๆ เรา ช่างเป็นภาพที่น่าดูที่ไม่อาจลืมเลือนได้เลย
(รัสเซียบันทึก)
ของที่ระลึกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยาม
1. พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี สวมมงกุฎสยามอยู่ในกรอบเงินอันใหญ่ 2 ภาพ
2. งาช้างขนาดมหึมา 1 คู่ ซึ่งชาวลาวจากมณฑลภาคเหนือส่งเข้ามาถวายพระเจ้าอยู่หัว
3. มีดดาบสยามพร้อมด้วยฝักเป็นทอง
4. ดาบลาวที่มีด้ามเป็นของมีราคา นำมาจากเมืองเชียงใหม่
5. กริชจากมลายูพร้อมฝัก เป็นของมาจากมณฑลปัตตานี ที่อยู่ทางแหลมมะละกา
6. เชิงเทียนโลหะเป็นรูปนกตั้งตรงบนฐาน ซึ่งมีกระถางโลหะรองรับโดยทำเป็นรูปนกสามตัว มีลักษณะเช่นเดียวกัน
7. เหรียญทำด้วยดินเผามีคำจารึก
8. แจกันแก้วเคลือบสี 2 ใบ พร้อมทั้งมีช่อดอกไม้แกะจากหยกประดับไว้ในแจกันด้วย
9. ชุดน้ำชา ประกอบด้วยกาน้ำชาสองกา ถ้วยสีน้ำตาลเป็นดินเผาแบบจีน 12 ใบ วางอยู่ในถาดปิดทอง
10. รูปภูมิประเทศของสยามอีกมากมายหลายภาพ
ยาตราอาลัย : จากไกลเพื่อพบ
...พรุ่งนี้แล้วที่พวกเราต้องกล่าวคำอำลาจากดินแดนแห่งความสุขของแม่น้ำเจ้าพระยาไป ภาพอันน่ามหัศจรรย์ต่างๆ นั้นยังเห็นได้อย่างเด่นชัดปรากฏอยู่ตรงหน้าเรา และก็เลือนหายไปก่อนที่เราจะมีเวลาพอที่จะสนุกสนานกับมันได้อย่างเต็มที่ การจากประเทศสยามในครั้งนี้ ดูคล้ายกับว่าใครสักคนหนึ่งกำลังต้องแยกจากสิ่งที่เคยอยู่ใกล้ๆ และเป็นสิ่งที่รักยิ่งมาแสนนาน...
อี ออคทอมสกี้ : การเสด็จเยือนสยามฯ
ดินเนอร์ ก่อนจากลา จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ณ พระที่นั่งวโรภาศพิมาน เจ้าพนักงานรวมทั้งนักดนตรีทุกคนแต่ง อิวินิงเดรส อย่างพร้อมหน้า วงมโหรีบรรเลงเพลงสุดฝีมือสร้างความประทับใจครั้งสุดท้าย จนแขกต่างเมืองลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงความไพเราะอันจับจิต จังหวะดนตรีของสยามนั้นทำให้เกิดความฝันและคล้ายกับจะกล่อมเรา คืนสุดท้ายในแผ่นดินอันอวลด้วยบรรยากาศแห่งความอาลัย...
รุ่งเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2434 หลังการร่ำลาและฉายพระรูปหมู่เพื่อเป็นที่ระลึก ณ ข้างพระที่นั่งเวหาสจำรูญแล้ว ขบวนเจ้านายฝ่ายสยามนำส่งเสด็จคณะเดินทางของมกุฎราชกุมารรัสเซีย โดยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑลจนถึงเรือรบรัสเซีย 3 ลำที่ทอดสมอรออยู่ ขณะที่เรือล่องผ่านป้อมต่างๆ ตามลำน้ำเจ้าพระยา เสียงสลุตก็ยิงขึ้นติดๆ กันคล้ายสั่งลาและคารวะ
การถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัฐบาลไทยครั้งนั้นได้ผูกพระทัยซาร์เรวิชกับชาวสยามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การโคจรมาพบกันของเจ้าชายรัชทายาท จากดินแดนอันหนาวเย็นและองค์พระประมุขของประเทศที่พระอาทิตย์ทอแสงตลอดปี ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ลงตัวในความแตกต่าง แม้จะมีพระชนมายุที่ห่างกันถึง 15 พรรษา และมีบุคลิกที่ต่างกันไปคนละขั้ว เพราะผู้อ่อนวัยกว่าออกจะทรง ประหม่าและขี้อาย ในขณะที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นมิตร ร่าเริงมี พระสุรเสียง
กังวานน่าฟัง และ ดวงพระเนตรก็แวววาวด้วยความยินดี แต่ประมุขทั้งสอง ต่างก็ชอบพอซึ่งกันและกันจนกลายเป็นความสัมพันธ์ ฉันมิตรสนิทแนบแน่นในเวลาต่อมา
การเสด็จเยือนสยามครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันสนิทสนมแน่นแฟ้นเป็นพิเศษระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสอง คือ ราชวงศ์จักรี กับราชวงศ์โรมานอฟ และได้กลายเป็นแกนกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองต่อมา เป็นเวลากว่า 20 ปี
การเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440
จากเหตุการณ์ที่สยามสูญเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส และวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) เป็นช่วงเวลาแห่งความทรมานทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแผนเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ทรงตระหนักว่าในการที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียทางการเมืองและคลี่คลายนโยบายที่ก้าวร้าวของประเทศมหาอำนาจซึ่งรายล้อมไทยอยู่นั้นจำเป็นต้องดำเนิน กลยุทธ์ทางการทูต โดยการผูกสัมพันธไมตรีและสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศมหาอำนาจต้นตอของปัญหาเหล่านั้น อีกทั้งการเสด็จครั้งนี้นับเป็นโอกาสดียิ่งที่จะทรงแวะเยี่ยมเยือน คนคุ้นเคย ที่ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แล้ว
หมายกำหนดการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้กินระยะเวลา 9 เดือน เมื่อถึงวันพระฤกษ์ 7 เมษายน 2440 เรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ออกเดินทางจากปากน้ำสมุทรปราการ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ก่อนเข้ายุโรป โดยเสด็จฯขึ้นบกที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลีเป็นแห่งแรกราวกลางเดือนพฤษภาคม ในที่สุดก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าเขตประเทศรัสเซียในวันที่ 1 กรกฏาคม ปีเดียวกัน
การพบกันครั้งสุดท้ายของกษัตริย์สองแผ่นดิน
I am impostiently awaiting for the moment of your arrival here tomorrow. I recollect with such pleasure every detail of my stay in your Majestys dominion and will happy to thank you for it personally
ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีพระราชโทรเลขข้างต้นมารับเสด็จรัชกาลที่ 5 ในวันแรกที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงวอร์ซอ ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทั้งเจ้าชายอาโนเลนสกี้และนายพลเรืออาร์เซนเมียฟ ต่างคอยถวายการต้อนรับตามพระราชบัญชาอย่างสมพระเกียรติ ทุกหนแห่งล้วนแสดงออกถึงความชื่นชมยินดี สถานีที่ขบวนรถไฟพระที่นั่งผ่านต่างก็ ตกแต่งด้วยใบ (ไม้) ดอกไม้แลธงเทียวไสวถวายเป็นพระเกียรติยศ ทั้งมีกรมการและราษฎรในพื้นที่ที่มาคอยถวายคำนับรับเสด็จ โห่เสียงดังอุราถวายไชยมงคลเป็นอันมาก ส่วนการเดินทางสู่ราชสำนักรัสเซีย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์คก็แสนสะดวกสบาย รถพระที่นั่งใช้จักร์ ที่ซาร์นิโคลัสจัดถวายนั้น ตกแต่งในรถนอกรถอย่างปราณีต จนผู้มาในรถไฟ รู้สึกราวกับว่าอยู่ในวังอันงาม มีความผาสุขเป็นอย่างมาก
ในการพบกันอีกครั้งที่ต่างพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเสมอกันในฐานะพระประมุขเป็นครั้งแรกนี้ ต่างก็ถวายพระเกียรติสูงสุดแก่กัน และแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมระหว่างสองราชวงศ์ที่มีต่อกันมาก่อนหน้าการเสด็จประพาสครั้งนี้แล้ว พระเจ้าอยู่หัวสยาม ทรงเครื่องเต็มยศอย่างจอมพล ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูว์ ส่วนพระประมุขรัสเซียก็ทรงเครื่องเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์
วันชื่นคืนสุข : 11 วันในดินแดนปิยมิตร
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจะเริ่มต้นมานานแล้ว แต่ถือเอาวันที่ 3 กรกฎาคม 2440 เป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นวันที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้เหยียบย่างเข่าสู่แผ่นดินรัสเซียอย่างแท้จริง ยามค่ำของ คืนไวท์ไนต์ กลางฤดูร้อนเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ในระดับความสูงของเส้นอาร์กติกที่พระอาทิตย์จะส่องแสงตลอดวันและคืน พระเจ้ากรุงสยามพร้อมขบวนข้าราชบริพารก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมีพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จฯ มาทรงรับถึงสถานีรถไฟและได้ทูลเชิญให้ประทับที่พระราชวังฤดูร้อน พระราชวังนอกเมืองที่คนรัสเซียเรียกกันว่า
ปีเตอร์ฮอฟ
10 กว่าวันในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มิได้จำกัดการประทับอยู่เพียงในกรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาเยือนมอสโค เมืองหลวงเก่า แกรนด์ดุ๊กเซิร์จ อะเล็กซานโครวิช พระเจ้าอาซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลมอสโคเป็นผู้คอยให้การรับรองอยู่ที่นั่น และได้ถวายพระราชวังเครมลินให้เป็นที่ประทับ เวลาค่ำก็มีเลี้ยงเต็มยศ ในวันที่ 8 กรกฎาคมรุ่งขึ้น เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมเรือนโรมานอฟ ปฐมวงศ์กษัตริย์รัสเซีย และได้เสด็จแวะที่ ห้างฟาแบรเช่ ร้านเครื่องทองและอัญมณีประจำ
ราชสำนัก ที่มีฝีมืออันลือลั่น ในวันเดียวกันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธซึ่งในขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศราชหฤทัยได้ตามเสด็จมาสมทบ และได้เข้าเฝ้า ซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์หลังจากเสด็จย้อนกลับไปยังกรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง
ของเพื่อนให้ : ฝากไว้ในความทรงจำ
ความผูกพันและความสนิทสนมส่วนพระองค์ระหว่างซาร์นิโคสัสที่ 2 กับพระเจ้าอยู่หัวสยามได้ขยายเป็นมิตรภาพพระดับราชวงศ์ที่ครอบคลุมถึงสมาชิกทุกคนในราชวงศ์ทั้งสอง ความกลมเกลียวแน่นแฟ้มยิ่งทวีมากขึ้นตามวันเวลาที่พระพุทธเจ้าหลวงประทับอยู่ที่นั้น และสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากพระราชโทรเลขที่มีมาถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
ฉันไม่สามารถจะพรรณนาได้ว่ารู้สึกยินดีปานใด ที่ได้กลับมาถึงที่นี่อีก ได้กอดจูบกับเอมเปอเรอ
หลายครั้ง แล้วขึ้นรถไฟที่เอมเปรสด้วยกัน ฉันได้นำลูกชายของเราให้เฝ้า ทั้งเอมเปอเรอ และเอมเปรส ทรงพระกรุณาแก่เขาเป็นอันมาก เอมเปรสประทานเข็มกลัดแก่เธอเป็นรูปมหามงกุฎของประเทศนี้ ซึ่งเป็นของทำเฉพาะสำหรับพระราชทานแก่เอมเปรสและแกรนด์ดัชเชสทั้งหลายในเวลาราชาภิเศกนั้น และเป็นเครื่องหมายสำคัญของผู้ซึ่งเป็นพระประยูรญาติในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งเอมเปรสรับสั่งว่าทรงนับว่าเธอก็เป็นอยู่ในพระบรมราชวงศ์นี้ด้วยผู้หนึ่ง ได้รับพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอ อาเล็กซานเดอที่ 3 ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเป็นอันมากกับของบุหรี่ซิการ์แรตมีอักกษรจารึกว่า ของเพื่อนให้ ฉันชอบของสองสิ่งนี้ว่ามีราคามากยิ่งกว่าของสิ่งอื่นๆ ที่ฉันได้รวมกันทั้งหมด แล้วได้พร้อมกับรับเสด็จเอมเปรสพระราชชนนี ซึ่งได้ทรงรับรองพวกเรานั้น แลเอมเปรสพระราชชนนีได้รับสั่งซ้ำอยู่หลายครั้งว่า ทรงรู้สึกคิดถึงฉันในเวลาที่ฉันไม่อยู่ เอมเปรสพระราชชนนีนี้ได้รับสั่งซ้ำอยู่หลายครั้งว่า ทรงรู้สึกคิดถึงฉันไม่เวลาที่ฉันไม่อยู่ เอมเปรสพระราชชนนีนี้ได้ประทานซองบุหรี่ซิการ์แรตมีอักษรจารึกเหมือนกันกับทีเขียนจารึกบนพระรูปนั้นด้วย เอมเปรสพระราชชนีได้รับสั่งถึงเธอด้วยพระกรุณาอย่างยิ่ง ทรงส่งกำไลมือประดับเพชรแลไข่มุกอันงามมาประทานเธอด้วย เอมเปรสพระราชชนีนั้นได้ทรงพระเมตตาแก่มกุฎราชกุมารด้วยเสมอกัน พวกเราได้กินกลางวันกับเอมเปรสพระราชชนนีนั้น ฉันรู้สึกเหมือนดังอยู่ในเรือนของญาติอันสนิทเหมือนกัน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอันใด ไม่ต้องไว้เกียรติอันใดต่อกันเลย เราเล่นหัวโลดเต้นเหมือนดั่งอยู่ในบ้านเรือนของเราเอง ฉะนั้นฉันอยากให้เธอมาที่นี่ด้วยกันจริง ๆ เธอจะได้เห็นความสุขสบาย แลความรักที่มีต่อกันในพระบรมราชวงศ์อันนี้ ฉันยังไม่เคยเห็นครอบครั้วที่มีความสุขแลรักใคร่ต่อกันสนิทเช่นนี้เลย....
การรับเสด็จพระราชดำเนินของรัสเซียครั้งนั้น เป็นไปอย่างสมพระเกียรติยิ่ง และบริบูรณ์ด้วยความสนิทสนมในทางพระราชไมตรีส่วนพระองค์
คำบันทึกภาพการ ร่ำลาอาลัย ในวันสุดท้ายระหว่างสองกษัตริย์ที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องเชื้อชาติ และสรีระ ยามที่ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงส่งเสด็จปิยมิตรจากแดนไกลลงเรือนพระที่นั่งโปลาร์สตาร์ คงจะเป็นสิ่งที่เรียกรอยยิ้มและความตื้นตันใจแกผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านได้ทุกครั้งทุกคราวไป
ต่างพระองค์ได้ทูลลาทรงกอดรัดจุมพิต และมีพระราชดำรัสสั่งเสียเป็นอเนกประการ ..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินมาส่งสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอถึงบันไดจะลงเรือพระที่นั่ง ความที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองทรงพระอาไลยรักใคร่กันและกันฉันพระเชษฐาแลพระอนุชาในพระราชวงศ์เดียวกัน เวลาที่จำจากยากที่จะปลดปลิดพระองค์ให้จากกันไปได้....
สืบสัมพันธ์ : สานมิตรภาพหลังการเสด็จเยือนรัสเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามและพระประมุขรัสเซียที่เป็นไปอย่างอบอุ่นดุจญาติพี่น้อง เป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่นำมาซึ่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครในเดือนเมษายน 2441 ในปีต่อมาพระองค์ได้ส่ง ทูลกระหม่อมเล็ก หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศรัสเซียพร้อม นายพุ่ม นักเรียนไทยอีกคนหนึ่ง การเสด็จไปศึกษาต่อนี้เป็นไปตามคำทูลขอของพระเจ้าซาร์ที่ขอให้รัขกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสพระองค์หนึ่งไปเรียนต่อที่รัสเซีย โดยพระองศ์จะทรงชุบเลี้ยงและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทูลกระหม่อนเล็กอยู่ในพระราชอุปการะ และเป็นที่รักใคร่ในสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และสมเด็จพระจักรพรรดินีเป็นอย่างยิ่ง เป็น สายสัมพันธ์ที่มีชีวิต ซึ่งเชื่อมโยงราชสำนักทั้งสองให้สนิทสนมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ โคลารอฟสกี้ มาดำรงตำแหน่งอุปทูตรัสเซียประจำสยามเป็นคนแรกในปี 2441 และทางสยามก็ได้แต่งตั้งพระยาสุริยานุวัตรราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มีอำนาจรับผิดชอบครอบคลุมถึงรัสเซีย และต่อมาได้แต่งตั้งพระยามหิบาลบริรักษ์ ( สวัสดิ์ ภูมิรัตน์ ) เป็นอัครทูตคนแรก ณ กรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อพุทธศักราช 2442
สายสัมพันธ์อันดีงามของสยามและรัสเซียยังดำรงและสืบเนื่องเรื่อยมาแม้สยามจะเผชิญความวิปโยคครั้งใหญ่จากการเสด็จสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวงในปี 2453 ยามผลัดแผ่นดินใหม่ พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ยังได้ทรงส่งเจ้านายแทนพระองศ์ แกรนด์ดุค บอริส วลาดิมิโฮวิตซ์ พระราชภาคินัย มาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2454 ด้วย
แต่แล้ว ...การเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในของรัสเซียที่เกิดขึ้นอีก 6 ปี ให้หลัง ในพ.ศ. 2460 ก็ทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยมีหยุดลงชั่วคราว รัสเซียเปลี่ยแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของพรรคบอลเชวิก แต่เหตุการณ์ทางการเมืองนี้หาได้ลบเลือนความทรงจำอันงดงามที่เคยเกิดขึ้นในสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ ร่องรอยแห่งเกียรติภูมิและความผูกพันที่แน่นแฟ้นระดับราชวงศ์ยังคงเปล่งเสียผ่านรายทางของสถานที่ต่าง ๆ ของทั้งสองราชอาณาจักรอยู่ไม่เสื่อมคลาย...
โดย สมาน สุดโต
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
|
|