| เนิ้อหานี้อยู่ในหมวด : เสด็จเยือนรัสเซีย
พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เสด็จเยือนรัสเซีย |
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ นิโคลัสที่ 2 แห่งราชสำนักรัสเซีย พระมหากษัตริย์ของไทยได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่นจากสมเด็จพระจักรพรรดิ พระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์โรมานอฟและจากประชาชนชาวรัสเซีย อันเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศรัสเซีย
และจากจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงสายสัมพันธ์และมิตรภาพที่กระชับยิ่งขึ้นดุจญาติพี่น้องระหว่างกษัตริย์สองพระองค์นี้ และยังเป็นรากฐานการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา นั่นคือ หลังจากการเสด็จเยือนประเทศรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น พระองค์ทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เสด็จไปเรียนวิชาทหาร ณ ประเทศรัสเซีย
เหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้จากการจัดนิทรรศการจดหมายเหตุ สายสัมพันธ์รัสเซีย-ไทย : มิตรภาพที่ยั่งยืน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมของไทยได้นำไปจัดที่ประเทศรัสเซียแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลอง 300 ปี ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 26-30 สิงหาคม 2546 และครั้งที่ 2 ในงาน วันวัฒนธรรมไทยในรัสเซีย ณ กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 9-15 กันยายน 2548 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าชาวรัสเซียที่ได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการต่างให้ความสนใจเส้นทางแห่งสายสัมพันธ์ที่สืบต่อมายาวนานเป็นอย่างมาก
กรพินธุ์ ทวีตา หัวหน้ากลุ่มบริการและประสานส่งเสริมกิจการจดหมายเหตุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ค้นคว้าและดูแลการจัดนิทรรศการจดหมายเหตุ ณ ประเทศรัสเซีย ทั้ง 2 ครั้ง เล่าให้ฟังว่า เท่าที่ค้นเอกสารจดหมายเหตุในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นการประมวลจากเอกสารที่พบ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระองค์ท่านเสด็จเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเอกสารที่พบจะเป็นภาพถ่ายและเอกสารลายลักษณ์ที่เป็นตัวเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชสาส์น โต้ตอบระหว่าง 2 ราชวงศ์ คือ หลังจากที่ท่านกลับจากเสด็จประพาสยุโรปและได้ส่งพระราชโอรสไปเรียนวิชาทหาร ก็จะมีเอกสารโต้ตอบโดยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ นิโคลัสที่ 2 หรือที่เราเรียกกันว่า พระเจ้าซาร์ ได้มีพระราชสาส์นมาเล่าถึงการเรียน การพระราชทานตำแหน่งทางการทหารให้แก่พระราชโอรสเป็นทหารม้าฮุสซาร์ ขณะเดียวกันก็มีรายงานเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของพระราชโอรสจากทูตไทยที่ดูแลภาคพื้นนั้นมาด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสยุโรปนั้น เมืองไทยเคยมีโอกาสต้อนรับพระเจ้าซาร์ในขณะดำรงพระยศแกรนด์ดุกซารวิตซ์ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียมาก่อนแล้ว ครั้งที่เสด็จเยือนกรุงสยาม โดยทรงประทับที่วังสราญรมย์ และพระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา โดยมีภาพถ่ายพิธีการรับเสด็จและกิจกรรมมากมาย แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป จากนั้นจึงได้มีกิจกรรมที่สานต่อความสัมพันธ์ ต่าง ๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งพระราชสาส์นสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง การส่งพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายร่วมแสดงความยินดีซึ่งกันและกันในโอกาสต่าง ๆ เรื่อยมา
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ประมวลได้จากเอกสารในหอจดหมายเหตุเท่านั้น เชื่อว่ายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนี้อีกมากมายที่อาจจะมีเก็บรักษาเอกสารอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ หรืออยู่ที่ประเทศรัสเซียก็ได้
อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาได้ล่วงเลยไปนับร้อยปี แต่มิตรภาพและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศยังคงยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน พระราชวงศ์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จเยือนรัสเซียเพื่อสานต่อสัมพันธภาพระหว่างประเทศทั้งสอง อาทิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงผู้นำประเทศไทยหลายยุคหลายสมัยที่ได้เดินทางไปเยือนเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทั้งด้านการค้า และวัฒนธรรม อันนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่กระชับแน่น
หลายคนอาจจะมองว่ารัสเซียเพิ่งเปิดประเทศไม่นานความเป็นเมืองปิดมาก่อนอาจทำให้ความสัมพันธ์ที่กล่าวมาแล้วดูจืดจาง แต่จากประสบการณ์ที่ได้ไปพบมาอยากบอกว่าไม่จริงเสมอไป เพราะคราแรกที่ได้พบกับคนรัสเซียความรู้สึกที่ว่าอาจเกิดขึ้นจริงเพราะความที่เขาต้องถูกบังคับให้อยู่ในกรอบและความยากจนมาก่อน เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเป็นมิตรกับทุกคนเช่นที่คนไทยเป็น แต่เมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนไทยไปจากเมืองไทยปฏิกิริยาที่ได้รับจะเปลี่ยนไปในทันที มิตรภาพและรอยยิ้มเกิดขึ้นได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ สายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองประเทศยังคงอยู่และเชื่อว่าน่าจะสืบทอดยาวต่อไป หากไม่มีเหตุการณ์ใดมาตัดให้ขาดไปเสียก่อน
ความสัมพันธ์ ดุจเครือญาติระหว่างสองราชวงศ์ มิตรภาพที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสยาม-รัสเซีย ได้กลายเป็นที่มาของนิทรรศการ A Passage to Russia : จากเพนียดคล้องช้าง ถึงรัสเซีย ซึ่งมีขึ้นเมื่อในวันที่ 21-29 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา ณ อาคารเซ็นทรัล เวิล์ด ชั้น 1 โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ฉันมิตรอันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริยาธิราชของทั้งสองประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย
โดยผ่านเรื่องเล่าของดินแดนอันลี้ลับจากบันทึกนักเดินทางสยามกับรัสเซียรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการ ในมุมมองของนักเดินทางและนักผจญภัยนิรนามที่เคยย่างกรายเข้ามา ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัสเซียในเวลาต่อมากระชับแนบแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อทางรัสเซียได้ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับสัมพันธ์ไมตรีกับสยามต่อมาอีก 2 วาระ คือครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2416 และครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2425 ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมาเยือนครั้งที่ 2 ผู้แทนจากรัสเซีย คือ พลเรือตรี อัสลันเบกอฟ ได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 100 ปี และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบปะสนทนากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอำนาจในขณะนั้น และแม้ว่าความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเซ็นสัญญาทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียยังไม่บรรลุผล เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจของรัสเซียมุ่งความสนใจไปยังคาบสมุทรบอลข่าน และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าใดๆ กับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ แต่การเริ่มต้นที่ดีและผลพวงของความสัมพันธ์ที่กล่าวกันว่า มีแต่ความชื่นใจ ไมตรีจิตต่อกันเป็นการปูพื้นฐานที่ดีงาม เพื่อขยายสายสัมพันธ์ครั้งหน้าของประเทศทั้งสอง ก็ได้แนวทางที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
อีกครั้งหนึ่งกับการเสด็จเยือนสยามของเซอร์เรวิช แกรนด์ ดุ๊ก นิโคลัส ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434 กับ 5 วันแห่งความทรงจำในดินแดนนิยายทางตะวันออก ด้วยการต้อนรับอย่างมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่วันที่เรือพระที่นั่งผ่านสันดอนปากน้ำเข้ามายังท่าเทียบเรือที่ประดับประดาอย่างงดงาม ด้วยข้อความแสดงการต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย ทหารกองเกียรติยศสยามที่บรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จ จนกระทั่งถึงวันส่งเสด็จกลับ จนถึงกับเกิดคำพูดกล่าวเปรียบเปรยกันติดปาก สัพยอกใครต่อใครที่ทำอะไรใหญ่โตหรูหราว่า ยังกับรับซาร์จากรัสเซีย
3 วันในพระนคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพอันยืนยง ในพระราชวังสราญรมย์ได้รับการตกแต่งอย่างดีที่สุด เพื่อให้มิตรจากต่างแดนสุขสบายราวบ้านตน พิธีพระราชทาน สายสะพายจักรี สีเหลืองสด ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ชั้นสูงสุดของไทยที่สงวนไว้เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูง แด่ แกรนด์ ดุ๊ก ซาร์เรวิช ถือเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ถึงความยินยอมพร้อมใจ ที่จะรับอาคันตุกะจากอีกซีกโลกเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวจักรี
รวมถึงการ ปิกนิก ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการคล้องช้างครั้งสุดท้ายของแผ่นดินสยาม 2 วันสุดท้าย ซาร์เรวิชและคณะเสด็จไปพระราชวังบางปะอิน โดยพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานการรับรองในลักษณะของการปิกนิกแบบไทย ที่ไปกันเป็นคณะใหญ่จำนวน 3,000-4,000 กว่าคน และมีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จจำนวนนับร้อย สิ่งสำคัญที่สุดของการต้อนรับครั้งนี้ คือจัดให้มีพระราชพิธีคล้องช้างเกิดขึ้นที่เพนียด เป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์เพราะการคล้องช้างป่าต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก และยังถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ไม่ได้จัดขึ้นอย่างง่ายๆ
การถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัฐบาลไทยครั้งนั้นได้ผูกพระทัยซาร์เรวิชกับชาวสยามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการโคจรมาพบกันของเจ้าชายรัชทายาท จากดินแดนอันหนาวเย็นและองค์พระประมุขของประเทศที่พระอาทิตย์ทอแสงตลอดปี ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ลงตัวในความแตกต่าง แม้จะมีพระชนมายุที่ห่างกันถึง 15 พรรษา และมีบุคลิกที่ต่างกันไปคนละขั้ว
จนเมื่อถึงคราที่การเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรัสเซีย เมื่อ พ.ศ.2440 ซึ่งอยู่ในแผนการเสด็จประพาสยุโรปเพื่อใช้ กลยุทธ์ทางการทูต ผูกสัมพันธ์ไมตรีและสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ
ซึ่งการเยี่ยมเยียน คนคุ้นเคย ที่ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แล้ว ด้วยหมายกำหนดการเสด็จประพาสยุโรปที่กินระยะเวลากว่า 9 เดือน โดยในวันพระฤกษ์ 7 เมษายน 2440 เรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ออกเดินทางจากปากน้ำสมุทรปราการ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ก่อนเข้ายุโรป โดยเสด็จขึ้นบกที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เป็นแห่งแรกราวกลางเดือนพฤษภาคม และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเขตประเทศรัสเซียในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ผิดหวังแม้แต่น้อย
ทั้งนี้เป็นเพราะตั้งแต่วันแรกที่ทรงประทับอยู่ที่กรุงวอร์ซอ ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทั้งเจ้าชายอาโนเลนสกี และนายพลเรืออาร์เซนเมียฟ แห่งรัสเซีย ต่างคอยถวายการต้อนรับตามพระราชบัญชาอย่างสมพระเกียรติ ทุกหนแห่งล้วนแสดงออกถึงความชื่นชมยินดี สถานีที่ขบวนรถไฟพระที่นั่งผ่านต่างก็ ตกแต่งด้วยใบ (ไม้) ดอกไม้ ถวายเป็นพระเกียรติยศ
ส่วนการเดินทางสู่ราชสำนักรัสเซีย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กก็แสนสะดวกสบาย รถพระที่นั่งใช้จักร ที่ซาร์นิโคลัสจัดถวายนั้น ตกแต่งในรถนอกรถอย่างประณีต จนผู้มาในรถไฟ รู้สึกราวกับว่าอยู่ในวังอันงาม มีความผาสุขเป็นอย่างมาก
ซึ่งในการพบกันอีกครั้งที่ต่างพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเสมอกันในฐานะพระประมุขเป็นครั้งแรกนี้ ต่างก็ถวายพระเกียรติสูงสุดแก่กัน และแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมระหว่าง 2 ราชวงศ์ที่มีต่อกันมาก่อนหน้าการเสด็จประพาสครั้งนี้แล้ว พระเจ้าอยู่หัวสยาม ทรงเครื่องเต็มยศอย่างจอมพล ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูว์ ส่วนพระประมุขรัสเซียก็ทรงเครื่องเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์
ด้วยระยะเวลา 11 วันในดินแดนปิยมิตร แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจะเริ่มต้นมานานแล้ว แต่ถือเอาวันที่ 3 กรกฎาคม 2440 เป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นวันที่พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เหยียบย่างเข่าสู่แผ่นดินรัสเซียอย่างแท้จริง และได้สานมิตรภาพหลังการเสด็จเยือนรัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามและพระประมุขรัสเซียที่เป็นไปอย่างอบอุ่นดุจญาติพี่น้อง ยิ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครในเดือนเมษายน 2441 ในปีต่อมาพระองค์ได้ส่ง ทูลกระหม่อมเล็ก หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศรัสเซียพร้อม นายพุ่ม นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกจากสวนกุหลาบฯอีกคนหนึ่ง (ต่อมานายพุ่มกลายเป็นทหารในกองทัพรัสเซีย และใช้ชื่อว่า "พุ่มสกี้") การเสด็จไปศึกษาต่อนี้เป็นไปตามคำทูลขอของพระเจ้าซาร์ที่ขอให้รัขกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสพระองค์หนึ่งไปเรียนต่อที่รัสเซีย โดยพระองศ์จะทรงชุบเลี้ยงและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทูลกระหม่อมเล็กอยู่ในพระราชอุปการะ และเป็นที่รักใคร่ในสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และสมเด็จพระจักรพรรดินีเป็นอย่างยิ่ง เป็น สายสัมพันธ์ที่มีชีวิต ซึ่งเชื่อมโยงราชสำนักทั้ง 2 ให้สนิทสนมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อีกทั้งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ โคลารอฟสกี มาดำรงตำแหน่งอุปทูตรัสเซียประจำสยามเป็นคนแรกในปี 2441 และทางสยามก็ได้แต่งตั้งพระยาสุริยานุวัตรราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มีอำนาจรับผิดชอบครอบคลุมถึงรัสเซีย และต่อมาได้แต่งตั้งพระยามหิบาลบริรักษ์ ( สวัสดิ์ ภูมิรัตน์ ) เป็นอัครทูตคนแรก ณ กรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อพุทธศักราช 2442
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในของรัสเซียที่เกิดขึ้นอีก 6 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2460 จะทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยมีหยุดลงชั่วคราว เมื่อรัสเซียเปลี่ยแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของพรรคบอลเชวิก แต่เหตุการณ์ทางการเมืองนี้หาได้ลบเลือนความทรงจำอันงดงามที่เคยเกิดขึ้นในสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ ร่องรอยแห่งเกียรติภูมิและความผูกพันที่แน่นแฟ้นระดับราชวงศ์ยังคงเปล่งเสียผ่านรายทางของสถานที่ต่างๆ ของทั้ง 2 ราชอาณาจักรอยู่ไม่เสื่อมคลาย
|
|