พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย
นักเรียนเทพศิรินทร์คนแรกที่เข้าเรียนและมีชื่อลงในสมุดทะเบียนของโรงเรียนเทพศิรินทร์คนแรก(ท.ศ.๑) ชื่อ นายพุ่ม เป็นบุตรของนายซุ้ย และ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่๖ ได้โปรดเกล้าพระราชทานนามสกุลว่า สาคร,
นายพุ่ม สาคร เป็นชาวฝั่งธนแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู อยู่ในสวน นายซุ้ย ผู้เป็นบิดาคงจะเป็นคนฐานะดีคนหนึ่งจึงได้ส่ง นายพุ่ม สาคร มาเรียนหนังสือในโรงเรียนเทพศิรินทร์ นายพุ่มเป็นคนที่เรียนเก่ง และก็คงจะเป็นผู้มีบุคลิกดี ตลอดจนมีกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัยดี กล้าหาญ จึงได้รับเลือกจากกรรมการคัดเลือก บุตรข้าราชการ นักเรียนดีเด่นในสมัยนั้น จากคนดีเด่น ๑๐คน เลือกโดยวิธีการคัดออกจนเหลือ ๓ คนสุดท้าย เพื่อนำมาถวายให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเลือกเพื่อให้ไปเป็นเพื่อนเรียนที่รัสเซีย นายพุ่ม สาคร นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ผู้นี้ถือว่าเป็น นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงหรือทุนคิงฯคนแรก เนื่องจากสอบคัดเลือกมาได้เป็นที่๑
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศรัสเซีย ตามคำกราบบังคมทูล ของ พระเจ้าซาร์นิโคลาส แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ของ ประเทศรัสเซีย พระองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมประเทศไทย โดยทรงได้ทูลขอต่อองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่๕ ว่าพระองค์ได้ส่งพระราชโอรส ไปทรงศึกษา เล่าเรียน ณ ประเทศต่างๆในทวีปยุโรปหลายประเทศแล้ว เช่น ที่อังกฤษ เยอรมัน เดนมาร์ก จึง ขอให้ส่งไปที่ประเทศรัสเซียบ้าง ต่อจากนั้นอีก ๓ปี มกุฎราชกุมาร ของ ประเทศรัสเซีย ทรงได้เป็นพระจักรพรรดิ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่๕ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไปตามนั้น และ ยังได้ทรงขอร้องต่อพระเจ้าซาร์นิโคลาส ขอให้ได้ให้เกียรติ นายพุ่ม สาคร ให้ได้รับความเป็นอยู่ ศึกษา เล่าเรียน ทุกอย่างให้เหมือนกับ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เพื่อให้ นายพุ่ม สาคร เป็นเพื่อนเรียน และ มิตรแท้ ของ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ในต่างแดนและเพื่อให้เจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงมีขัตติยมานะเพียรในการเรียนมากยิ่งขั้น
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่๕ เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไปส่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และนายพุ่ม สาคร โดยเรือพระที่นั่งจักรี(ลำเก่า)ถึงที่ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งในการนั้นเป็นการเสด็จพร้อมด้วยพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ อาทิ สมเด็จพระราชปิตุลาฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งจะเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆในทวีปยุโรป และได้ทรงรับมอบหมายให้ส่งเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ที่ประเทศรัสเซียด้วย นายพุ่ม สาคร ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ไปถึงประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ซึ่งทางพระเจ้าซาร์นิโคลาส ได้จัดขบวนนายทหารและคณะมารับที่ชายแดนโดยหัวหน้าเป็นนายพลนายทหารองครักษ์ของพระเจ้าซาร์เลยทีเดียว จากนั้น ได้นำเสด็จไปประทับยังวังฤดูหนาวของพระเจ้าซาร์นิโคลาส ในสมัยนั้นพระเจ้าซาร์นืโคลาส มีกองทัพทหารที่เกรียงไกรมาก อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก ตั้งแต่นั้น นายพุ่ม สาคร จึงเป็นเสมือนมิตรแท้ และเพื่อนตายของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม สาคร ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ซึ่งเป็นสำนักศึกษาที่ใกล้ชิดกับ พระเจ้าซาร์นิโคลาสมากที่สุด ในการเรียนนี้จะต้องมีความมานะพยายามในการเล่าเรียน และ ฝึกอย่างหนัก เพราะจะต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกันซึ่งเราเสียเปรียบด้านภาษาและความเคยชิน แต่เมื่อผลการเรียนออกมา ผมการสอบไล่ปี พ.ศ.๒๔๔๓ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ ๒ และนายพุ่ม สาคร ได้เป็นอันดับที่ ๔ ทั้งๆที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯและนายพุ่ม มักจะต้องไปร่วมงานต่างๆของราชสำนักพระเจ้าซาร์นิโคลาส อยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม จะต้องไปถวายปฏิบัติ กับพระราชมารดาของ พระเจ้าซาร์นิโคลาส และมหาราชินีอเลกซิสด้วย ผลการสอบครั้งสุดท้ายก่อนจะจบจากโรงเรียน สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ สอบได้เป็นที่ ๑ และ นายพุ่ม สาคร สอบได้เป็นที่ ๒ และ ได้รับการบรรจุเข้าเป็น นายร้อยตรีแห่งกรมทหารม้า ฮุสซาร์
นายร้อยตรีพุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับมาที่เมืองไทยครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๖ และได้เข้าประจำการกรมทหารม้ารักษาพระองค์กรุงเทพฯ ได้รับยศ ร้อยตรีทหารม้า
จากนั้น ร.ต.พุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับไปศึกษาที่ประเทศรัสเซียอีกครั้งเพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูง และ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ร.ต.พุ่ม สาคร ได้เข้าประจำการใน กรมทหารม้าฮุสซาร์ อีกครั้งหนึ่ง และ ได้รับยศ พันเอก เป็น พันเอก พุ่ม สาคร แห่ง กรมทหารม้าฮุสซาร์ ที่เป็นที่หนึ่ง และ โด่งดังในด้านการรบยิ่ง พันเอกพุ่ม สาคร ในฐานะนายทหารรัสเซีย ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ร่วมกับกองทัพเยอรมันจนได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนั้น พันเอกพุ่ม สาคร ได้เริ่มเหินห่างจากสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิคสกี้ และแยกทางกับ พ.อ.พุ่ม สาคร เพื่อทรงเสด็จกลับประเทศไทย ซึ่งพ.อ.พุ่ม สาคร จะขออยู่ต่อเพื่อศึกษาภาษาฝรั่งเศส ในการนี้ทางกระทรงกลาโหมของไทยไม่ยอม จึงเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงจนทางกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้ขังบริเวณ พ.อ.พุ่ม สาคร ในสถานทูตไทย กรุงเซนต์ปีเตอร์เบอกร์ ซึ่งการที่พ.อ.พุ่ม สาคร โดนขังในครั้งนี้ ได้ก่อความเคียดแค้นให้แก่ นายทหารฮุสซาร์เป็นอย่างมาก เพราะถือว่า เป็นการทำให้กรมทหารม้า นี้เสียเกียรติ จึงได้ลักพาตัว พ.อ.พุ่ม สาคร ออกจากสถานทูต จึงทำให้เกิดเรื่องใหญ่โตขึ้น ถึงกับ พ.อ.พุ่ม สาคร ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย ซึ่งเป็นเหตุทำให้ พ.อ.พุ่ม สาคร หมดทางที่จะกลับประเทศไทยได้อีก
จนในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศรัสเซียได้เกิดการปฎิวัติครั้งใหญ่ซึ่งนำทางไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นายทหารรัสเซียถูกปลดออกจากประจำการจำนวนมาก และได้ยอมให้ทหารชั้นผู้น้อยเลือกผู้บังคับบัญชาเอง พันเอกพุ่มสกี้ (เพราะสัญชาติรัสเซียแล้ว) ได้รับ การคัดเลือกจากนายทหารชั้นผู้น้อย ให้เป็นผู้บังคับบัญชาต่อไป แต่เนื่องจากความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของ พ.อ.พุ่มสกี้ ที่มีต่อพระเจ้าซาร์นิโคลาสเป็นอันมากจึงไม่ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นี้ แล้วถือโอกาสหนีออกจากประเทศรัสเซีย มาเป็น นายพุ่ม สกี้ มาทำงานเป็นเสมียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และ ต่อมาได้พำนักกับ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการของหม่อมคัทริน เคสนิคสกี้ นายพุ่มสกี้ ได้กลับเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงเสนอเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้ นายพุ่มสกี้ กลับมาเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่งเป็น นายพุ่ม สาคร การจากเมืองไทยไปถึง ๓๓ ปี ทำให้นายพุ่ม สาคร ตื่นตาตื่นใจเป็นอันมากที่ ได้กลับมาเห็น บ้านเกิดเมืองนอนของตนอีก
การกลับมาในครั้งนั้น ก็เป็นที่กล่าวขวัญของคนไทยมาก จอมพลป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ และ ขอร้องนายพุ่ม สาคร ให้เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ให้ยศพันโททหารประจำกองทัพไทย แต่ว่า นายพุ่ม สาคร ตอบปฎิเสธ ต่อมาจึงได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พร้อมกับการเสด็จกลับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ของ พระพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๐ปี ขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เสด็จไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศพของนายพุ่ม สาคร ยังคงฝังอยู่ ณ สุสานใกล้บ้าน ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ขอยุติเรื่องราวของนักเรียนเทพศิรินทร์ เลขประจำตัวหนึ่ง ที่ชื่อ นายพุ่ม สาคร ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญ เสียสละ ซื่อสัตย์ รักเกียรติ เรียนเก่ง ไว้เป็นบทเรียนแก่นักเรียนเทพศิรินทร์ และคนไทยรุ่นหลัง
ข้อมูลจาก : พี่เก่ง http://www.numtan.com
ภาพที่ 1 พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย
ภาพที่ 2 พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย (คนซ้าย)
ภาพที่ 3 พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย (คนที่๙ จากทางซ้ายในแถวหลัง)
ภาพที่ 4 พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย (คนขวา)
ภาพที่ 5 พ.อ.พุ่มสกี้ แห่งกองทัพรัสเซีย (คนกลาง)
|