อุกกาบาตที่ระเบิด ณ ทังกัสกาเมื่อปี พ.ศ. 2451 สร้างความหวาดเสียวไม่ใช่น้อย เสียงดังจากการระเบิดได้ยินไปทั่วทวีปยุโรปทีเดียว การระเบิดครั้งดังกล่าวรุนแรงขนาดทำให้ป่าทั้งป่า ราบเรียบไปแต่ก็ไม่ทิ้งร่องรอยของหลุมอุกกาบาตไว้แต่อย่างใด เหตุการณ์ครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการที่มีดาวหางขนาดเล็ก หรืออาจเป็นชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย ที่แตกออกมาพุ่งฝ่าบรรยากาศโลก และเกิดการระเบิดขึ้นก่อนจะตกถึงพื้นโลก
ในช่วงศตวรรษนี้ เราสังเกตเห็นลูกไฟต่างๆ ได้หลายลูก ลูกหนึ่งที่เราเห็นในเวลากลางวัน คือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งมันเคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศของโลกเหนือหุบเขา แกรนด์ เททัน และมีผู้ถ่ายภาพไว้ได้หลายคน นอกจากนี้ก็ยังมีลูกไฟ พีคสกิล ที่พุ่งผ่านเหนือรัฐเพนซิลวาเนีย และรัฐนิวยอร์ก แล้วพุ่งเข้าใส่รถยนต์คันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ในศตวรรษหน้าจะมีการระเบิดหรือการชนครั้งมโหฬารเกิดขึ้นหรือไม่ ?
จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 21 คำตอบจากวงการวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป มีความเห็นค่อนข้างตรงกัน คือ สาเหตุเกิดจากโลกถูกวัตถุขนาดใหญ่จากอวกาศชน แต่สิ่งที่ชนโลกคืออะไร คำตอบที่ได้รับความสนใจมากที่สุดมีสองคำตอบ ได้แก่ ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย โดยที่ความเห็นในวงการวิทยาศาสตร์โลก สลับกันไปมาระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์น้อย
สาเหตุใหญ่ที่ทำให้การถกเถียงหาจำเลยต้นเหตุการระเบิดลึกลับที่ทัง กัสกา เมื่อปีค.ศ. 1908 ยังไม่ยุติ ก็เพราะทั้งสองสาเหตุขาดหลักฐานที่หนักแน่นพอจะชี้ขาดได้
มาล่าสุด หลังการระเบิดลึกลับที่ทังกัสกาผ่านไป 101 ปี วงการวิทยาศาสตร์ก็ได้หลักฐานข้อมูลใหม่ ช่วยการตัดสินว่า ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย เป็นต้นเหตุการระเบิดลึกลับดังกล่าว แต่จะหนักแน่นแค่ไหน เราไปติดตามดูเรื่องนี้กัน
การระเบิดลึกลับที่ทังกัสกา เกิดขึ้นเมื่อเวลา 07.14 น. เวลาท้องถิ่นของวันที่ 30 มิ.ย. ปีค.ศ. 1908 ที่แคบบริเวณใกล้แม่น้ำทังกัสกา ในไซบีเรีย ประเทศสหภาพโซเวียตเดิม ปัจจุบันอยู่ในส่วนของประเทศรัสเซีย
ไม่ว่าการระเบิดจะเกิดขึ้นจากดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย แต่ความคิดเห็นที่ตรงกันของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คือ ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยนั้น ไม่ชนกับพื้นผิวโลกโดยตรง หากเกิดการระเบิดกลางอากาศ ทำให้ไม่เกิดหลุมอุกกาบาตที่ชัดเจนบนพื้นผิวโลก โดยที่แรงระเบิดมีอานุภาพทำลายรุนแรงทำให้พื้นที่ป่าพังราบ กินอาณาบริเวณกว้างกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร มีต้นไม้ล้มหรือถูกผลกระทบกว่า 80 ล้านต้น เปรียบเทียบความรุนแรงกันระเบิดอะตอมที่ถล่มฮิโรชิมาแล้ว ที่ทังกัสกามีอำนาจรุนแรงกว่าประมาณ 1,000 เท่า
โชคดีที่ตำแหน่งบริเวณเกิดการระเบิดโดยตรง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างเป็นชุมชน จึงไม่มีรายงานผู้ได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีรายงานจากผู้คนที่อาศัยอยู่แถบบริเวณใกล้กับตำแหน่งการระเบิดว่า ก่อนการระเบิด เห็นแสงสว่างออกสีน้ำเงินสว่างเกือบเท่าดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ในท้องฟ้า ประมาณ 10 นาทีต่อมา จึงเห็นแสงสว่างวาบและเสียงคล้ายเสียงปืนใหญ่ ตามด้วยคลื่นช็อกเวฟ ทำให้กระจกบ้านห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรแตก ผู้คนล้ม
การระเบิดครั้งนั้น ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนคล้ายแผ่นดินไหว วัดโดยสถานีวัดแผ่นดินไหว (Seismic Station) ทั่วทั้งยุโรปและเอเชีย ได้ระดับ 5.0 ริกเตอร์ แล้วก็เกิดแสงสว่างในท้องฟ้าติดต่อกันหลายวัน แสงสว่างในท้องฟ้าที่สว่างพอให้คนในกรุงลอนดอน ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากทังกัสกากว่า 4,800 กิโลเมตร สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ในเวลากลางคืนได้
สำหรับคำอธิบายสาเหตุการระเบิดที่ทังกัสกา นักดาราศาสตร์อังกฤษ เอฟ. วิปเปิล เริ่มต้นก่อนอย่างค่อนข้างชัดเจน ในปีค.ศ. 1930 โดยเสนอว่าเจ้าตัวร้ายสาเหตุการระเบิดนั้น คือ ดาวหางขนาดเล็ก จึงทำให้เกิดเห็นทางสว่างในท้องฟ้า แล้วก็ระเบิดกลางอากาศ ก่อนชนกับพื้นผิวโลก
ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ. 1930 ถึงปลายทศวรรษที่ 70 วงการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดว่า ดาวหาง เป็น ต้นเหตุการระเบิดที่ทังกัสกา และมีการชี้ออกมาในปีค.ศ. 1978 โดยนักดาราศาสตร์บางคนว่า สิ่งที่ชนโลกเมื่อปีค.ศ. 1908 เป็นส่วนหนึ่งของดาวหางเอนซ์เค (ENCKE)
อย่างไรก็ดี ก็มีนักดาราศาสตร์ที่ยังไม่ปักใจว่า ดาวหางเป็นเจ้าตัวร้าย หากเป็นดาวเคราะห์น้อยมากกว่าอยู่เสมอ แต่เสียงไม่ดังนัก ที่ค่อนข้างดังชัดเจน คือ ในปีค.ศ. 1983 ซเดเนค เซคานินา นักดาราศาสตร์ชาวเช็ก ทำงานอยู่กับนาซาที่ JPL ตีพิมพ์รายงานการศึกษาโต้แย้งว่า ต้นเหตุการระเบิดที่ทังกัสกาไม่น่าจะเป็นดาวหาง เพราะดาวหางจะสลายตัวไปในอากาศมาก จนกระทั่งไม่น่าจะเกิดการระเบิดรุนแรงดังที่เกิดขึ้นได้ โดยเสนอว่าต้นเหตุน่าจะเป็น ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก หรืออุกกาบาตที่เหลือมาจากการเป็นดาวเคราะห์น้อย ชนโลก แต่เกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศก่อนถึงพื้นโลก
ความคิดเรื่องดาวเคราะห์น้อยหรืออุกกาบาตขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นต้นเหตุมากกว่าดาวหางได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากการวิเคราะห์แกน ต้นไม้ในแถบพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อหาร่องรอยของอนุภาค จับโดนต้นไม้เมื่อปีค.ศ. 1908 เพราะพบอนุภาคที่มักจะพบในดาวเคราะห์น้อย แต่มักไม่พบในดาวหาง
มาล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิ.ย. ปีค.ศ. 2009 มีรายงานซึ่งจะลงตีพิมพ์ในวารสาร Jounal Geophysical Research Letters เป็นข่าวดังไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์โลก ผลงานของคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ นำโดย ไมเคิล เคลลีย์ ศึกษาการเดินทางของยานขนส่งอวกาศ Endeavour ขึ้น-ลงระหว่างโลกกับอวกาศ เมื่อเดือนส.ค. ปีค.ศ. 2007 และย้อนหลังไปเมื่อปีค.ศ. 1997 กับปี 2003 แล้วสรุปออกมาว่า การเดินทางของยานขนส่งอวกาศ ช่วงลงสู่บรรยากาศโลก จะปล่อยไอน้ำออกมาจากยานขนส่งอวกาศเป็นปริมาณมาก ซึ่งเมื่อสัมผัสกับบรรยากาศชั้นสูงเทอร์โมสเฟียร์ของโลก (เทอร์โมสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศของโลก อยู่ระหว่างชั้นเอกโซสเฟียร์ซึ่งเป็นชั้นบนสุด ก่อนเข้าสู่อวกาศรอบโลก และชั้นมีโซสเฟียร์ ซึ่งอยู่ถัดจากชั้นเทอร์โมสเฟียร์ลงมา ชั้นเทอร์โมสเฟียร์เริ่มต้นที่ระดับความสูงประมาณ 50 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวโลก) จะเผชิญกับอุณหภูมิต่ำเย็นเฉียบถึงลบ 117 องศาเซลเซียส
แล้วไอน้ำนี้ จะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วไปไกลถึงบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ จับกลุ่มเป็นแผ่นเมฆสว่างกินบริเวณพื้นที่กว้าง ทำให้ท้องฟ้าสว่างเป็นเวลาต่อกันหลายวัน หลังการเดินทางของยานขนส่งอวกาศ
คณะนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้จะคล้ายกับสิ่งที่เกิดกับการระเบิดที่ทังกัสกา เมื่อปีค.ศ. 1908 มาก โดยชี้นิ้วไปที่ดาวหาง เป็นต้น เหตุการระเบิดที่ทังกัสกาว่าเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าสู่บรรยากาศโลก ก็จะปล่อยไอน้ำแข็งออกมาเป็นปริมาณมาก แล้วไอน้ำแข็งของดาวหาง ก็จะสัมผัสกับบรรยากาศชั้นสูงของโลกที่เย็นจัด ทำให้ไอน้ำแข็งเคลื่อนที่กระจายกันไปไกลทั่วทั้งยุโรปและเอเชีย และจึงทำให้ท้องฟ้าสว่างอยู่นานหลายวันหลังการระเบิด
หลักฐานใหม่จากการศึกษายานขนส่งอวกาศ จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนความคิดว่า ดาวหางเป็นเจ้าตัวร้ายต้นเหตุการระเบิดที่ทังกัสกา เมื่อปีค.ศ. 1908
แล้วคำตอบนี้ เป็นคำตอบสุดท้ายหรือยัง?
อีกไม่นานเกินรอ ก็น่าจะทราบกัน!
|