ภายหลัง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ร่างกฏหมายนี้มี 50
มาตรา โดยสาระสำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินให้เงินชดเชยคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย
และผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่างพ.ร.บ.นี้
โดยไม่พิสูจน์ความรับผิด คนไข้ต้องยื่นเรื่องภายใน
3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี คนไข้สามารถฟ้องคดีอาญาได้
แม้จะได้รับเงินชดเชยแล้ว สถานพยาบาลทุกแห่งต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ
เพื่อเตรียมเงินไว้จ่ายชดเชย นอกจากนี้ผู้ฝ่าฝืนยังมีโทษทั้งจำและปรับ
เป็นต้น ซึ่งผ่านมติครม.แล้ว กำลังรอเข้าพิจารณาในรัฐสภาสมัยหน้า
ส่งผลให้ความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ปะทุชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนหลายคนนึกไม่ออกเลยว่า ระหว่างหมอที่เคยเป็นผู้ให้
กับคนไข้ที่เคยเหมือนญาติในครอบครัวมาถึงจุดแตกหักได้อย่างไร
ไทยรัฐ ออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับหมอใจดีขวัญใจมหาชนที่มีคนรัก
(และเป็นหมอที่รักคนไข้) มากที่สุดคนหนึ่ง
เจ้าของฉายาหมอ 5 บาท รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ
ที่เคยได้รับพระราชทานรางวัล น้ำใจงาม ด้านการสงเคราะห์และพัฒนาคุณภาพชีวิต
ประจำปี พ.ศ.2547 จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
นอกจากจะมาพูดถึงประเด็นร้อนแล้ว จะทำอย่างไรให้ทั้ง
2 ฝ่าย ซึ่งเคยเป็นคนกันเองกลับมาเป็นเหมือนเดิม
Q : อาจารย์หมอติดตามข่าวสารเรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขบ้างไหม
A : ติดตามตลอดครับ เพราะว่าตอนนี้ผมไม่ค่อยสบาย
อายุ 87 ปีแล้ว ร่างกายก็ไม่ดีเหมือนเดิม
นี่ก็ยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ ไม่ได้ไปคลินิกนานแล้ว
นี่ก็คือว่าถ้าดีขึ้น อีกหน่อยก็จะขับรถไป
เพราะคนมาบอกว่ามีคนมาถามหาเยอะ
Q : อาจารย์หมอมองเห็นอะไรบ้างในหน้าสื่อเรื่องเกี่ยวกับพ.ร.บ.ตัวนี้
A : ในมุมของอาจารย์หมอ ผมเห็นว่ามีความขัดแย้งด้วยกันทั้ง
2 ฝ่าย ทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วย
แต่ถามว่าเห็นด้วยไหม มันก็มีทั้ง 2 มุม
ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะมอง เพราะมันมีเหตุผลอธิบายได้เหมือนกัน
Q : คนที่ประท้วงไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ตัวนี้
บอกว่า ถ้าพ.ร.บ.ออกมาจะเป็นการกดขี่หมอ
ถึงขนาดแต่งดำ เผากระดาษประท้วง
A : ผมว่าก็ไม่เชิงอย่างนั้นนะ คือพูดกันความเป็นจริง
ถ้าเผื่อหมอทำไม่ดีเอง หมอก็ต้องยอมรับผิด
แต่ถ้าเผื่อเป็นอุบัติเหตุ หมอก็ต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ
ชาวบ้านก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่ใช้ความสุดโต่งด้วยกันทั้ง
2 ฝ่าย
Q : หลายคนสังสัยว่า วันนี้หมอกับคนไข้
ซึ่งสมัยก่อนเคยเป็นเสมือนญาติพี่น้องกันมาตลอดทั้ง
2 ฝ่าย เดินทางมาถึงจุดตอบโต้กัน ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันได้อย่างไร
เห็นคุณหมอบอกว่าไม่เคยทะเลาะกับคนไข้เลยในชีวิตการทำงาน
A : ผมทำงานมาเกือบ 60 ปี ไม่เคยทะเลาะกับคนไข้เลย
เพราะผมเห็นเขาเป็นเหมือนญาติ พี่-ป้า-น้า-อา
ลูกๆ หลานๆ บางคนเรียกผมว่าพ่อบ้าง คุณหมอใจดีบ้าง
เพราะพวกเขารู้สึกผูกพันกับเรา บางคนมารักษากับผมตั้งแต่เด็กๆ
จนถึงวันนี้ก็โตมีลูก ก็เอามารักษากับเรา
ปรัชญาในการทำงานของผมก็คือเราต้องดีกับเขา
เวลาพวกเขาให้เกียรติมารักษากับเรา ผมจะไม่เลี้ยงไข้และจะไม่ปล่อยให้เขาหนัก
ถ้าตรวจแล้วเห็นว่าเขาสมควรส่งโรงพยาบาล
ก็ต้องรีบส่งเลย
Q : กำลังจะบอกว่าที่วันนี้ 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน
เพราะต่างฝ่ายก็คิดว่าจะเอาชนะจากอีกฝ่ายท่าเดียว
ไม่มีใครอยากเสียเปรียบ
A : ใช่...เพราะวันนี้ความรู้สึกแบบคนในครอบครัวหายไป
หมอคนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผม ความสัมพันธ์ของผมกับคนไข้ดีมาตลอด
ไม่เคยทะเลาะกันสักครั้งเดียว อย่างไรก็ดี
ปัจจุบันเราก็ต้องยอมรับว่า ข้อผิดพลาดของหมอมันเยอะ
Q : พอจะแนะนำวิธีการปรับจูนให้ทั้ง 2
ฝ่ายกลับมาเป็นคนกันเอง ถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนเดิมได้ไหม
A : มันอยู่ที่การติดต่อกับคนไข้ คือสำหรับผม
ถ้าคุณเป็นหมอ ต้องมีใจเป็นธรรม ที่สำคัญเป็นหมอต้องใจดี
ส่วนคนไข้ก็ต้องรู้ว่า ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยอะไรไป
ต้องเข้าใจว่าหมอช่วยเต็มที่แล้ว หมอก็ต้องอธิบายว่าทำเต็มที่อย่างไร
Q : สภาพที่เกิดแบบวันนี้ กล่าวคือพร้อมจะแตกหัก
คุณหมอคิดว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วเกิดขึ้นมาจากอะไร
A : ประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าพอโลกมันเปลี่ยนไป
โรงพยาบาลเอกชนก็เริ่มเกิดมากขึ้น ค่ารักษาเริ่มแพงมากขึ้น
สังคมก็เริ่มเปลี่ยนไป เน้นทุนนิยมมากขึ้น
แต่จริงๆ จะไปว่าเขารีดนาทาเร้นค่ารักษาก็ไม่ได้
เพราะว่ากว่าโรงพยาบาลเอกชนเกิด แต่ละแห่งมันต้องใช้เงินมโหฬาร
ซึ่งจะให้เก็บค่ารักษาเหมือนกับโรงพยาบายรัฐ
มันก็เจ๊ง ไหนจะเรื่องเขาจ้างเงินเดือนหมอ
เริ่มต้นเดือนละ 1 แสน ผิดกับหมอรุ่นผมที่เริ่มต้น
1,400 บาทเท่านั้น (ปัจจุบันเกษียณและได้เดือนละ
24,000 บาทเท่านั้น)
แต่เดี๋ยวนี้หมอเงินเดือนสูงกันหมด แต่ผมไม่สนใจเงิน
หรืออย่างคนไข้บางคน ก็เอาคนไข้มาขู่หมอโดยตั้งใจ
คือแกล้งจะเอาเงิน บอกว่ารักษาผิด ทั้งที่เป็นความผิดหมอทั้งหมดก็มี
ซึ่งเงินมีบทบาทเยอะ ทำให้ระยะห่างของหมอกับคนไข้เปลี่ยนไป
และยิ่งหยั่งรากฝังลึก
Q : มีทางออกวิธีไหนที่พวกเขาจะทำความเข้าใจกันและกัน
A: ยากมากๆ ทางออกต้องเปิดอกคุยกัน อยู่ที่การพูดจาทุกๆ
ฝ่าย ต้องไม่มองอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรู ทุกวันนี้ผมไม่เคยมองคนไข้ว่าเป็นศัตรู
ซึ่งคนไข้ก็ต้องเข้าใจว่าที่หมอเขาวินิจฉัยโรคผิดเยอะ
เพราะว่าปัจจุบันโรคมันเยอะมากๆ หลายอย่างที่มันซับซ้อน
คนไข้ก็ต้องเห็นใจหมอ หมอก็ต้องเต็มที่
ซึ่งหากผิดพลาดอะไรไปตรงไหนก็ต้องสื่อสารออกไปและหาทางเยียวยาพวกเขา
ไม่ใช่อยู่เฉยๆ วันนี้ความรู้สึกของผมกับคนไข้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนไป
คนไข้ก็ยังเป็นลูกเป็นหลาน เขาก็ยังนับถือผมเหมือนเดิม
สิ่งที่ผมอยากจะย้ำ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือหมอกับคนไข้ต้องนับถือและเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไม่มองว่ามันเป็นธุรกิจ
ที่ผมทำงานตรงนี้ผมก็ขาดทุนทุกวันนะ แต่ผมคิดว่าผมทำเพื่อช่วยคนไข้
แต่น่าเสียดายที่ผมไม่สบาย ไม่สามารถไปรักษาเขาได้
เพราะยังใส่เครื่องหายใจอยู่เลย
Q : นิยามคนไข้ สำหรับอาจารย์หมอคืออะไร
A : พ่อ แม่ พี่ น้อง คือคนในครอบครัวที่มาจากหลายๆ
ที่ แต่มาหาเราเพราะต้องการความช่วยเหลือ
ซึ่งเราก็ต้องช่วยเหลือเขาด้วยหัวใจ
Q : และนิยามสำหรับความเป็นหมอล่ะ
A : สำหรับตัวผมแล้วไม่มีครับ แต่ถ้าเป็นอาชีพนี้
ผมว่าน่าจะเป็น "ผู้ให้ส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน"
อย่างไรก็ดี แม้โลกทุนนิยมจะเข้ามาครอบงำสังคมไทยมากมายสักแค่ไหน
และแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยังขัดแย้งอันหนักสักเท่าไหร่
สิ่งหนึ่งก็ยังเชื่อว่าหมอกับคนไข้ไม่ใช่ศัตรูกัน
|